เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายให้ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานคณะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ “สทน.” และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมค ในโอกาสครบรอบ 1 ปี พร้อมทั้งมอบนโยบายและตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ สทน. ณ อาคารปฏิบัติการโทคาแมค สทน.สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงอว. พร้อมกับผู้บริหารกระทรวง และเจ้าหน้าที่สถาบัน ให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมคในโอกาสครบรอบ 1 ปี ว่าเครื่องโทคาแมค Thailand Tokamak-1 หรือเครื่อง TT-1 เป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศไทย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานสะอาดเพื่ออนาคต หลังจากพิธีเปิดในวันที่ 25 ก.ค.66 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการโทคาแมค และได้ทรงกดปุ่มเดินเครื่องครั้งแรกเป็นปฐมฤกษ์แล้วนั้น
ระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา สทน. ร่วมกับเครือข่าย ได้เดินเครื่องโทคาแมค TT-1 ด้วยตัวเอง ในรอบ 1 ปี สามารถเดินเครื่องไป 1,285 ครั้ง โดยมีผลการเดินเครื่องที่ดีที่สุด (Best Record) โดยสรุปดังนี้ 1.กระแสพลาสมา สามารถเดินเครื่องได้กระแสพลาสมาสูงสุดคือ 85.4 กิโลแอมแปร์ (สูงขึ้น 17% ของค่าปฐมฤกษ์) 2.อุณหภูมิพลาสมา สามารถเดินเครื่องได้อุณหภูมิสูงสุดคือ 545,000 องศาเซลเซียส (สูงขึ้น 45% ของค่าปฐมฤกษ์)
3.ระยะเวลาที่สามารถควบคุมพลาสมา สามารถทำได้สูงสุด 122.94 มิลลิวินาที (นานขึ้น 40% ของค่าปฐมฤกษ์) และ 4. ประสิทธิภาพของฟิวชัน (fusion triple product) เพิ่มขึ้นประมาณ 44 เท่า ของค่าปฐมฤกษ์
นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยในประเทศ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 25 หน่วยงาน จัดตั้งเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีฟิวชัน และร่วมกันพัฒนาห้องปฏิบัติการขั้นสูงด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน
สำหรับปีที่ผ่านมามีการพัฒนาทางวิศวกรรมที่สำคัญ ซึ่งทีมนักวิจัยของ สทน. และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมกันพัฒนาระบบวัดพลาสมาที่เรียกว่า “Langmuir Probe” หรือ LP เป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาพฤติกรรมของพลาสมาที่บริเวณขอบ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพลาสมาหลักกับผนังเครื่อง LP ทำหน้าที่เสมือน “เซ็นเซอร์อัจฉริยะ” ที่วัดอุณหภูมิและความหนาแน่นของพลาสมาที่บริเวณขอบได้อย่างแม่นยำแม้ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงมาก
ระบบ LP ที่สร้างมีจำนวน 52 หัว ที่แยกอิสระต่อกันนั้น คือสามารถปรับแต่งรูปแบบการวัดให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการทดลองในแต่ละครั้งได้ การพัฒนา LP โดยทีมนักวิจัยไทยนี้ไม่เพียงช่วยประหยัดงบประมาณ แต่ยังสร้างองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับวงการวิทยาศาสตร์ไทย เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานฟิวชันของประเทศ การพัฒนา LP สำหรับเครื่องโทคาแมค TT-1 นี้ เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลก ถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงโดยฝีมือคนไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศไทย
ความร่วมมือระหว่าง สทน. และมหาวิทยาลัยในเครือข่าย CPaF แสดงให้เห็นถึงพลังของการทำงานร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดและยั่งยืนสำหรับประเทศไทยในอนาคต
นอกจากนี้ สทน.ได้จัดแสดงผลงานที่สำคัญด้านวิศวกรรมและนวัตกรรม ที่นักวิจัย สทน.โดยศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และศูนย์วิศวกรรมนิวเคลียร์ ได้พัฒนาขึ้นมา อาทิ เป็นการออกแบบทางวิศวกรรม โดยนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม-ปิโตรเคมี โดยใช้รังสีตรวจสภาพความสมบูรณ์ และหาความผิดปกติของโครงสร้างภายในหอกลั่นและสภาวะการผลิตภายในหอกลั่น โดยไม่สร้างความเสียหายให้เกิดกับชิ้นงาน การพัฒนาเครื่องวัดรังสี และเครื่องสำรวจรังสีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ รวมทั้งจัดแสดงผลงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ อาทิ การผลิตแผ่นไฮโดรเจล ด้วยกระบวนการฉายรังสี เพื่อใช้ในการบำรุงผิวในรูปของแผ่นปิดแผล หรือแผ่นมาส์กที่ให้ความชุ่มชื้นและบำรุงผิวหน้า การฉายรังสีอัญมณีเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด 30 เท่า การพัฒนาผงไหมโปรตีนสูงด้วยรังสี ทำให้อนุภาคมีขนาดเล็ก ดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย
โครงการอาหารพื้นถิ่นการพัฒนาคุณภาพอาหารในพื้นถิ่นต่างๆ ให้มีคุณภาพ สะอาดปราศจากเชื้อ และยืดอายุการเก็บรักษาด้วยการฉายรังสี การผลิตกระถางต้นไม้ด้วยขุยมะพร้าวผสมไฮโดรเจลอุ้มน้ำ เพื่อใช้สำหรับการปลูกต้นไม้และสามารถประหยัดน้ำในการเพาะปลูก รวมทั้งบริการตรวจวิเคราะห์ความแท้ของน้ำผึ้งและน้ำมะพร้าวโดยใช้ไอโซโทปเสถียร เป็นต้น
ในโอกาสนี้ รศ.นพ.สรนิต ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้ สทน. การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ได้แก่ เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ขอใช้งานวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีเพื่อส่งเสริม SME และอุตสาหกรรมในแขนงต่างๆ เข้าถึงและสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้มากขึ้น เร่งยกระดับขีดความสามารถทางด้านวิศวกรรมเนื่องจาก สทน. มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากมายที่ต้องอาศัยวิศวกรรม ประเทศไทยจึงควรเร่งพัฒนางานด้านวิศวกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยและกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเปลี่ยนบทบาท “จากผู้ซื้อเป็นผู้สร้าง” ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ประหยัดเงินที่จะต้องใช้นำเข้าเทคโนโลยี หากเราไปถึงจุดนั้นได้ประเทศเราเข้มแข็งขึ้นอย่างแน่นอน ดำเนินการโครงการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อเตรียมการไปสู่การมีโรงไฟฟ้าฟิวชันในอนาคต
ขณะเดียวกันยังเห็นว่า สทน.ควรมีบทบาทในระดับนานาชาติ โดยเรื่องที่ สทน.มีความเชี่ยวชาญ คือ เรื่องอาหาร ซี่งกระแสของโลกในทุกวันนี้ คือ อาหารปลอดภัย และความยั่งยืนด้านอาหาร สทน.ในฐานะที่ทำงานวิจัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีในด้านอาหารและการเกษตร ควรนำผลงานวิจัยและงานบริการมาช่วยสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์การเกษตร เพิ่มคุณภาพสินค้าทางการเกษตรให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น นอกจากจะเป็นการช่วยส่งเสริมเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ยังเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสุดท้ายคือปัญหาโลกร้อน ถือเป็น Global Issue สทน. ต้องมีนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนได้ในปี 2050 ให้ไทยเป็นประเทศ Net zero และ carbon neutrality ได้โดยสมบูรณ์ต่อไป