ผศ.ดร.พิบูลย์ วิฑูรย์ปัญญากุล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ คณะผู้จัดทำวิจัย เผยแพร่บทความวิจัยในวารสารนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2567 ในหัวข้อ “ปัญหาด้านกฎหมายของทีวีดิจิทัลกับการบริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต OTT” โดยได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายการของสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัล ส่วนใหญ่มีข้อกังวลเกี่ยวกับกรณี คือ เรื่องลิขสิทธิ์ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแล OTT ซึ่งยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการรักษาผลประโยชน์ของทีวีดิจิทัลที่ถูกละเมิด จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กสทช.เข้ามากำกับดูแลอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ให้ความเห็นว่า การที่ผู้ให้บริการ OTT มาขออนุญาตในการนำเสนอ หากไม่มีผลกระทบหรือเป็นช่องทางที่จะส่งเสริมให้ทีวีดิจิทัลได้รับความสนใจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะถือเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในการเสพสื่อได้หลายช่องทางมากขึ้น แต่ที่สำคัญต้องมีการตกลงหรือการจัดสรรผลประโยชน์ที่ลงตัวทุกฝ่าย ทั้งทีวีดิจิทัลและ OTT แต่ทุกวันนี้ยังคงมีการนำคอนเทนต์ไปใช้เผยแพร่โดยไม่เป็นธรรมกับเจ้าของคอนเทนต์

ผศ.ดร.พิบูลย์ วิฑูรย์ปัญญากุล


OTT นำคอนเทนต์ไปเผยแพร่หารายได้โดยไม่ได้รับอนุญาต
สรุปโดยย่อถึงปัญหาด้านกฎหมายของทีวีดิจิทัลกับการบริการเนื้อหาวีดีโอโดยการสตริมผ่านอินเทอร์เน็ต ใน 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 หาก OTT นำรายการของสถานีไปตัดต่อและนำเสนอ โดยไม่ได้ขออนุญาต ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ทางปัญญาหรือลิขสิทธ์ เบื้องต้นจะทำหนังสือตักเตือนโดยฝ่ายกฎหมายของทางทีวีดิจิทัล เพื่อให้ทราบว่ามีนำรายการที่นำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หากยังฝ่าฝืนอยู่คงต้องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายต่อไป ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 ลิขสิทธิ์

ประเด็นที่ 2 เมื่อผู้ให้บริการ OTT มีการหารายได้หรือโฆษณาบนคอนเทนต์ที่เอาไปจากทีวีดิจิทัล ถือว่าเป็นการทำละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ จะต้องดำเนินการทางกฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดี และเรียกค่าเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นต่อไป 

ประเด็นที่ 3 เมื่อผู้ให้บริการ OTT ไม่แบ่งรายได้จากโฆษณาดังกล่าวให้กับทีวีดิจิทัล ทางทีวีดิจิทัลต้องดำเนินการตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ตามกฎหมายและเรียกค่าเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่ 4 ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้ามาปกป้องคุ้มครองสถานีในการถูกนำเนื้อหาไปเสนอผ่าน OTT มีความเห็นว่า กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง ต้องเข้ามาช่วยปกป้องคุ้มครองของสถานีทีวีดิจิทัล รวมถึงผู้บริโภคด้วย

วอน กสทช.ปกป้องคุ้มครองทีวีดิจิทัล
ผู้ประกอบทีวีดิจิทัล มองว่า อยากให้ กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง เข้ามาช่วยปกป้องคุ้มครองของสถานีทีวีดิจิทัลที่รายการถูกนำเสนอผ่าน (OTT) เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้มีการดูแลคุ้มครองทีวีดิจิทัลในด้านของเนื้อหาที่ถูกนำไปเผยแพร่บน (OTT) อย่างชัดเจนแต่อย่างใด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พบว่ามีการนำเนื้อหาของทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่บนบริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) แล้ว แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแล OTT จึงยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการรักษาผลประโยชน์ของทีวีดิจิทัลที่ถูกละเมิด อย่างไรก็ตาม คาดว่าทาง กสทช. มิได้เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีผู้บริโภคร้องเรียนมาอยู่เนืองๆ กสทช. จึงอยู่ในระหว่างการวางแผนนโยบาย กำกับดูแล OTT เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

นักวิชาการแนะ หาแนวทางกำกับ OTT ให้ทันเทคโนโลยี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิบูลย์ ให้ความเห็นว่า จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ยังคงมีหลายประเด็นที่จะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือภาครัฐ ควรจะศึกษาต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะการออกมาตรการ แนวทางการกำกับดูแลทีวีดิจิทัลและการบริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งทบทวนกฎหมายลิขสิทธิ์ ให้สามารถกำกับดูแลทันต่อรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของการบริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ตลอดจนการกลั่นกรองและการจัดเรตติ้งของเนื้อหา บนบริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ให้เหมาะสม และศึกษาปัญหา ผลกระทบ ที่เกิดขึ้น ระหว่างกฎหมายลิขสิทธิ์ กับ กฎ Must have, Must carry

ทั้งนี้ กรณีที่ OTT มีโฆษณาแทรกอยู่ในเนื้อหาที่นำไปจากช่องทีวีดิจิตอล โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น นอกจากจะเป็นการละเมิดโดยตรงต่อทีวีดิจิตอลแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคที่เป็นผู้รับชมอีกด้วย ดังเช่น ที่มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคไปยังหน่วยงาน กสทช. ว่าพบโฆษณาของ OTT แทรกเข้ามาระหว่างการรับชมทีวีดิจิตอล จนกระทั่ง กรรมการ กสทช. ได้ส่งหนังสือสอบถามไปยัง OTT รายดังกล่าว เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค แต่กลับถูก OTT รายนั้น ฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตฯ ทั้งที่ ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ จนเป็นคดีความมาถึงทุกวันนี้

ที่มา : https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JOCASTOU/issue/view/17804/5025