เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ เขตดินแดง นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงานเสวนาวิชาการ ทิศทาง EIA กทม. 2024 ว่า การจัดงานเสวนาวิชาการฯ ในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีของ กทม.ในการบูรณาการความร่วมมือเชิงรุกจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ และปรับปรุงพัฒนางานด้านการประเมินและติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการด้านอาคารฯ ในพื้นที่ กทม. ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น และขอให้ได้ใช้โอกาสนี้สร้างความเข้าใจร่วมกัน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในบทบาทของตนอย่างเต็มที่ และประการสำคัญ คือ การร่วมกันเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของสังคม ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับนอกเหนือจากการพัฒนางาน EIA แล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป

กทม.โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จัดงานเสวนาวิชาการทิศทาง EIA กทม. 2024 ภายใต้แนวคิดบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้พัฒนาโครงการ ผู้ศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานรับรายงาน EIA เข้าสู่กระบวนการพิจารณา ผู้พิจารณารายงาน EIA และกำหนดมาตรการ EIA ตลอดจนผู้นำรายงาน EIA ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขการอนุญาต (ก่อสร้าง) ผู้ปฏิบัติตามมาตรการ EIA ผู้นำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการฯ (รายงาน Monitor EIA) และผู้บังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน และมุ่งหมายให้มีการเสนอแนวทางปฏิบัติที่สนับสนุนการดำเนินงานของทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะและสุขภาพอนามัยของประชาชน

สำหรับการจัดงานเสวนาวิชาการฯ ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมอาคารชุด สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สมาคมและสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง บุคคลและนิติบุคคลผู้จัดทำรายงาน นักวิชาการและผู้สนใจ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากสำนักต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักป้องกันและบรรทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต 50 เขต รวมจำนวนกว่า 300 คน

โดยการเสวนาบนเวทีในช่วงเช้า จะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนสมาคมอาคารชุดไทย ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผู้แทนคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (คชก. กทม) และผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็นในการค้นหาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (The Best Available Practice) ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เรื่อง หลักเกณ์ เทคนิคทางวิชาการ ในการจัดทำรายงาน EIA กลุ่มที่ 2 เรื่อง กระบวนการบริหารจัดการ การเสนอและพิจารณารายงาน EIA กลุ่มที่ 3 เรื่อง การกำหนดมาตรการ และการปฏิบัติตามมาตรการ EIA กลุ่มที่ 4 เรื่อง กระบวนการมีส่วนร่วม เรื่องร้องเรียน และการดำเนินคดี.