เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง กล่าวถึง กรณี มีประชาชนคิดว่าปลาหมอสีกับปลาหมอคางดำ เป็นปลาชนิดเดียวกันว่า จากการที่ตนได้พูดคุยกับนักวิชาการบอกว่า ปลาหมอคางดำกับปลาหมอสีเป็นปลาอยู่ในวงศ์ Cichlidae (ซิคลิเด) ในตระกูลเดียวกันกับปลานิล และปลาหมอเทศ แต่ปลาหมอสีเป็นปลาสวยงามและเป็นคนละสายพันธุ์กับปลาหมอคางดำ ซึ่งทั้งสองพันธุ์นี้มีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกัน

โดยปลาหมอสีมีการจำแนกย่อยเป็นหลายร้อยสกุล มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม แต่ก็มีลักษณะร่วมอันเป็นเอกลักษณ์ คือส่วนใหญ่มีสีสันสดใส สวยงาม และที่สำคัญคือคางไม่ดำ แต่ปลาหมอคางดำ ลักษณะภายนอกคล้ายกับปลาหมอเทศและปลานิลโดยเฉพาะในวัยอ่อน เมื่อโตเต็มวัยจึงจะสังเกตเห็นชัดขึ้นเพราะตรงคางเป็นสีดำ

ที่สำคัญปลาหมอสีไม่มีพฤติกรรมคุกคามระบบนิเวศและยึดบ้านทำลายสัตว์น้ำอื่นๆ เหมือนปลาหมอคางดำ เนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชี่ส์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่แอฟริกา อยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ซึ่งที่นั่นไม่เกิดปัญหาเพราะระบบนิเวศเขาสมบูรณ์ มีปลาไหลไฟฟ้า ปลาปิรันย่า และปลาจระเข้คอยไล่ล่ากิน แต่ประเทศไทยบ้านเราไม่มีปลาเหล่านี้ควบคุมปลาหมอคางดำจึงแพร่กระจายได้รวดเร็วและมายึดบ้านปลาพื้นถิ่นบางชนิดไม่พบมานานเป็นปีแล้วคือปลาหมอเทศ และที่ยังพบอยู่บ้างคือปลากระบอก

นอกจากนี้ปลาหมอคางดำยังมีพฤติกรรมสืบพันธุ์ไวมากเพียงอายุ 2 เดือน ออกลูกดกทุก 22 วัน ใน 1 ปีพ่อแม่ปลา 1 คู่สามารถขยายพันธุ์ได้ถึง 6 ล้านตัว วิธีออกไข่ก็ต่างจากปลาตระกูลเดียวกัน เช่น ปลานิล และปลาหมอเทศ ซึ่งมีพฤติกรรมตัวแม่ออกไข่แล้วอมไข่เลี้ยงลูกเองจึงมีระยะเวลาสร้างเนื้อและโปรตีน แต่ปลาหมอคางดำเมื่อตัวแม่ออกไข่ ตัวพ่อจะอมไข่ไม่กินอะไรเลย ระหว่างนั้นตัวแม่ก็ออกไข่ใหม่จึงไม่สร้างเนื้อและไม่สร้างโปรตีนทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม แม้ลักษณะภายนอกจะดูคล้ายปลาหมอเทศและปลานิล แต่ปลาหมอคางดำนั้นเนื้อน้อย เนื้อแข็งและเหนียว อีกทั้งก้างใหญ่และเยอะกว่าปลาหมอเทศ ปลานิล และแม้ปลาหมอคางดำ จะมีอัตราเกิดเร็วมากแต่ก็โตช้า ขยายพันธุ์เก่งแต่ไม่มีคุณภาพ แถมยังกินเก่ง กินทั้งพืชทั้งสัตว์น้ำ อะไรเล็กกว่าปากจะฮุบกินหมดทั้งลูกกุ้งลูกปลา เนื่องจากปลาชนิดนี้มีลำไส้ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า และกินโหด 24 ชั่วโมง

ส่วนสาเหตุว่าทำไมถึงเรียกกันว่า “ปลาหมอสีคางดำ” นายปัญญา กล่าวว่า ตนก็ไม่เข้าใจ แต่เท่าที่ทราบเมื่อปี 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบเรื่องการแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้ พบว่ามีบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งอยู่ใน จ.สมุทรสงครามนำเข้ามาจากต่างประเทศแล้วหลุดรอดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการใด ๆ กับผู้ที่นำเข้าได้เลย ต่อมามีนักวิชาการบางท่านก็ออกมายืนยันว่าปลาชนิดนี้ไม่ใช่ “ปลาหมอสี” แต่มันเป็น “ปลาหมอคางดำ” เป็นเอเลี่ยนสปีซี่ส์แต่ทำไมภาคราชการถึงพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่าเป็นปลาสวยงามนำเข้า เพราะปลาหมอสี ก็มีการนำเข้าจากต่างประเทศเหมือนกัน แต่เป็นคนละชนิดกัน เรื่องนี้ทำให้ผู้เลี้ยงปลาสวยงามเขาเดือดร้อน และประชาชนก็สับสนมาก.