กรณีประเด็นข้อพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลานได้ประกาศเขตอุทยานฯ ทับพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.ไทยสามัคคี ต.วังน้ำเขียว และ ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา รวมกว่า 30,000 ไร่ โดยอุทยานแห่งชาติทับลานอาศัยประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ ปี 2524 ฟ้องร้องชาวบ้านในพื้นที่แต่ถูกโต้กลับอาศัยประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ ปี 2543 ซึ่งได้ลงพื้นที่สำรวจและปักหมุดประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ เมื่อปี 2537 ขณะนั้นมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานร่วมเดินสำรวจ ล่าสุดทับลานขึ้นเทรนด์ X อันดับ 1 ชาวเน็ตแห่ค้านแผนตัดป่ากว่า 2 แสนไร่ ร่วมรณรงค์ลงชื่อไม่เห็นด้วยกลัวเอกชนฮุบป่า กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายธงชัย ลืออดุลย์ อดีต ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยในฐานะเคยดำรงตำแหน่งทางปกครองในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พ.ศ. 2538 ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอวังน้ำเขียว พ.ศ 2539-2543 นายอำเภอวังน้ำเขียวคนแรกและยังเป็น ผวจ.นครราชสีมา จึงทราบข้อเท็จจริงกับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่เคยมีประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินในพื้นที่พิพาทแต่อย่างใด
นายธงชัย เผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมาต่อเนื่อง ซึ่งตนเห็นด้วยกับมติ ครม.วันที่ 14 มีนาคม 2566 สมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สอดคล้องกับความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาและคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเห็นชอบแนวทางการใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ในการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์และจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานรวมทั้งพื้นที่มรดกโลก โดยคำนึงถึงมิติทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอันเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงไม่รู้ตัวเองไปทำอะไรไว้
พบหลักฐานที่ ต.ไทยสามัคคี วัดบุไผ่ ขึ้นทะเบียนขึ้นกับกรมศาสนาปี 2480 และตั้งโรงเรียนบ้านไทยสามัคคี ปี 2517 บ่งบอกมีชุมชนอาศัยมาอยู่ก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ยกตัวอย่างกฤษฎีกา 23 ธันวาคม 2524 กำหนดให้เป็นแนวเขตอุทยานทับลาน กฎหมายอุทยาน 2504 เขียนไว้ว่า “ท้องที่ใดที่อุดมสมบูรณ์ สมควรสงวนหวงห้ามไว้เพื่อการศึกษา ฯ เพื่อการรื่นรมย์ให้รัฐบาลออกกฤษฎีกากำหนดแนวเขตอุทยาน การกำหนดแนวเขตต้องมีเครื่องหมายประกาศแจ้งในพื้นที่เพียงพอให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ เกิดเป็นคำถามว่าในช่วงเวลานั้นได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือไม่ ที่ผ่านมาสาเหตุความไม่ชัดเจนของแนวเขตเกิดจากหน่วยงานรัฐ จึงเป็นปัญหาข้อพิพาทไม่รู้จบ
ช่วงที่ตนเป็นนายอำเภอวังน้ำเขียว มติ ครม.สัญจรครั้งแรกในประเทศไทย ที่ อ.วังน้ำเขียว วันที่ 22 เมษายน 2540 สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นเลขา ฯ มีลักษณะตรงกับ มติ ครม.วันที่ 14 มีนาคม 2566 แต่มีการแก้ไขมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 22 เมษายน 2540 ให้เหตุผลเกรงจะเป็นแบบอย่างกับพื้นที่อื่น สำหรับความคิดเห็นหากเป็นแบบอย่างได้ยิ่งดี พื้นที่ใดกรมอุทยานไปเขมือบพื้นที่มาต้องขย้อนคืนเขา ที่ผ่านมาให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไขว้เขวกับสังคม กระทั่งคนในพื้นที่ยังมีความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ตนเคยเป็นนายอำเภอวังน้ำเขียว เป็นหัวหน้าคณะทำงาน หัวหน้าแผนกจัดที่ดินทำกิน เลขาศูนย์กรณีผลักดันอุทยาน 7 ป่า อำเภอเสิงสาง ฯลฯ จึงทราบดีว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ข้อสงสัย มติครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่ผ่านมาได้ทำตามนโยบายหรือไม่ เท่าที่ทราบไม่สามารถทำได้สักอย่าง 20 ปีที่ผ่านมา การพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินยังไม่คืบหน้า หากภาครัฐไม่เลือกหนทางที่เป็นจริงก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ แนวโน้มน่าจะขัดแย้งและรบกันไปอีกชั่วนาตาปี “รักป่า จนกระทั่งชาวบ้านถูกดำเนินคดีร่วม 500 ราย”
กรุณาอย่าอ้างสุดท้ายแล้วที่ดินจะไปตกกับนายทุน ไม่ใช่หน้าที่ของกรมอุทยานฯ โปรดอย่าทำเกินหน้าที่ การทำตามมติ ครม.คือหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ท้ายสุดแล้ว สปก. รับไปพิจารณาดำเนินการ หากผิดพลาดขั้นตอนหรือละเมิดกฎหมายประการใด เรามีกฎหมายและบทลงโทษรองรับอยู่แล้ว ตนไม่เห็นด้วยกับบุคคลที่ขาดคุณสมบัติครอบครองที่ดิน ส.ป.ก การรับฟังความคิดเห็น #saveทับลาน เปิดลงชื่อคัดค้านอุทยานแห่งชาติทับลานจังหวัดปราจีนบุรี – นครราชสีมา – สระแก้ว ปรับแนวเขตใหม่ พื้นที่ 265,000 ไร่ ถึง 12 กรกฎาคม 2567 ผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องให้คนกลางหรือรับฟังความคิดเห็นร่วมกันระหว่างจังหวัด แต่กรมอุทยานกระทำเช่นนี้เป็นการ take side ฝ่ายเดียวไม่เสนอความจริงสองด้าน
ทั้งนี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ล่าสุด “เฉือนผืนป่า 265,000 ไร่” เป็นวลีที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงทั้งหมด แท้จริงแล้วหน่วยงานราชการต้องขย้อนคืนพื้นที่ให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะที่ ส.ป.ก.ได้เขมือบไปก่อนหน้านี้ ปัญหาความขัดแย้งยังมีหนทางจบลงด้วยดี
เนื่องจากมติครม.วันที่ 14 มีนาคม 2566 อยู่ในคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินและในความเห็นของ คทช.รวมถึงในความเห็นของอธิบดีกรมอุทยานฯ ตนยังรู้สึกดีใจ อธิบดีกรมอุทยานยังให้ความคิดเห็นตรงกับความเป็นจริง โดยกล่าวไว้ว่า “ไม่ได้เฉือนผืนป่าให้ใคร พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านไปหมดแล้ว” นายธงชัย อดีต ผวจ.นครราชสีมา กล่าว.