เบื้องต้นทาง “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์” (SCB EIC) ประเมินว่า ช่วงปี 2030-2037 จะมีการใช้ไฮโดรเจนใน โรงไฟฟ้าจากโครงการผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) และ โครงการผู้ผลิตเอกชนรายเล็ก (SPP) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มตั้งแต่ 5% หรือประมาณ 141-151 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นมูลค่ารวม 10,000-12,000 ล้านบาท ณ ระดับราคาไฮโดรเจนสีเขียว (ไฮโดรเจนผลิตจากแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ )ประมาณ 2.5-2.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้จากการประเมินตามเป้าหมายของกฟผ. ที่จะทยอยเพิ่มไฮโดรเจนคาร์บอนตํ่าในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติไปจนถึง 75% หรือ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2050 พบว่า มูลค่าไฮโดรเจนจะอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท ณ ระดับราคาไฮโดรเจนสีเขียวที่จะลดลงเหลือ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม

สำหรับคุณสมบัติเด่นของไฮโดรเจน ที่มีการปล่อยคาร์บอนตํ่า จะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2050 โดยไฮโดรเจนคาร์บอนตํ่า ถูกระบุให้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ในการผลิตไฟฟ้าของไทย เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงสะอาด ที่มีการปล่อยคาร์บอนตํ่ากว่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในไทยประมาณ 3 เท่า หากมีการใช้ไฮโดรเจนสีเขียวเป็นเชื้อเพลิงสูงสุด 75% ของปริมาณก๊าซที่ต้องใช้ในโรงไฟฟ้าในปี 2050 จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ไม่น้อยกว่า 42% จากปี 2023 จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality ในปี 2050 ได้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า กรณีที่แย่ที่สุด การใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนตํ่าในการผลิตไฟฟ้า จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น 28% และค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงขึ้น 5% ในปี 2040 โดยโรงไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการผสมและราคาในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น ศูนย์วิจัยฯ พบว่า การผสมไฮโดรเจนสีเขียว 5% ในปี 2030-2037 จะส่งผลต่อต้นทุนของโรงไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 9% และค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงขึ้น 1.6-1.7% ขณะที่การผสมไฮโดรเจนสีเขียว 20% ในปี 2040 จะทำให้ต้นทุนของโรงไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 28% และค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 5.4% ส่วนการผสมไฮโดรเจนสีเขียว 25% ในปี 2050 จะทำให้ต้นทุนของโรงไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 7% และค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 1.6% โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากราคาไฮโดรเจนที่สูงกว่าก๊าซธรรมชาติ และการสมมุติให้โรงไฟฟ้าไม่มีนโยบายเรื่องการลดคาร์บอนอย่างเป็น
รูปธรรม

อย่างไรก็ตามการผลักดันไฮโดรเจนคาร์บอนตํ่าให้เป็นเชื้อเพลิงหลักได้อย่างยั่งยืน จะต้องมีการลดต้นทุนการผลิต,ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้เอง โดยอาศัยโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า และผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิต และระบบซื้อ-ขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ต้นทุนไฮโดรเจนมีผลต่อการพิจารณาใช้สูงที่สุด โดยจากการประเมินต้นทุนที่จะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบในระยะยาว ไฮโดรเจนสีเขียวในไทยควรจะมีราคาเฉลี่ย 8-9 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู (MMBTU) (0.9-1 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม) โดยภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนสามารถช่วยกันพัฒนาทั้งการลดต้นทุนผ่านโมเดลการผลิตรูปแบบใหม่ที่ทำให้ต้นทุนและค่าไฟฟ้าลดลง หรือภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนกลไกการใช้คาร์บอนเครดิตและระบบการซื้อ-ขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ

ไฮโดรเจนคาร์บอนตํ่าถูกระบุชัดเจนขึ้นในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยในพีดีพีฉบับใหม่ปี 2024 โดยจะเข้ามาทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติประมาณ 5% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในโรงไฟฟ้าในช่วงปี 2030-2037 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของ กฟผ. ที่จะทดแทนสูงสุด 75% ภายในปี 2050 เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ภาคการผลิตไฟฟ้าบรรลุตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มเสถียรภาพทางพลังงานในประเทศ

ปัจจุบันไฟฟ้าพลังงานสะอาดในไทยได้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งจากความต้องการไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นท่ามกลางเป้าหมายที่จะบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ทั้งจากความต้องการไฟฟ้าที่เร่งตัวมากขึ้นตามยุทธศาสตร์ของประเทศ อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต อย่างเอไอ ดาต้า เซ็นเตอร์ ที่ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นราว 3 เท่าตัวจากดาต้า เซ็นเตอร์ปกติ ที่สำคัญยังต้องการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดด้วย เนื่องจากเจ้าของหรือผู้ใช้งาน AI Data center เป็นองค์กรที่ต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net zero emission ซึ่งนับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ภาครัฐเริ่มตื่นตัวในการเตรียมไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้เข้ามาลงทุน ขณะเดียวกัน ยังมีความต้องการไฟฟ้าที่มากขึ้น

ในภาคประชาชนเอง จากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและส่งผลให้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงการใช้ไฟฟ้าที่สูงทะลุสถิติใหม่ในแต่ละปี ที่ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเรื่องสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้าโดยรวมมากขึ้นเช่นกัน

สำหรับความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ในการใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนตํ่าผลิตไฟฟ้าในไทย หากใช้ไฮโดรเจนทดแทนก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าตาม PDP 2024 และเป้าหมายของ กฟผ. เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Net zero ในปี 2065 ได้ การใช้ไฮโดรเจนสีเขียว จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุด จากการลดการปล่อยคาร์บอนฯ สูงสุด และราคาตํ่าสุดเทียบกับไฮโดรเจนคาร์บอนตํ่าชนิดอื่น ๆ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในกรณีที่ไม่มีนโยบายผลักดันการลดคาร์บอนฯ แต่หากมีนโยบายผลักดันการลดคาร์บอนฯ การใช้ไฮโดรเจนสีเขียวจะมีโอกาสช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าได้

ค่าไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร? หากไทยใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนตํ่ามาผลิตไฟฟ้า โดยไฮโดรเจนสีเขียวมีความเหมาะสมในการใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนมากกว่าไฮโดรเจนสีฟ้า (ไฮโดรเจน ที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน) เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ตํ่ากว่าและคาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยฯ ประเมินต้นทุนค่าไฟฟ้ากรณีใช้ไฮโดรเจนสีเขียว พบว่า จะส่งผลให้ต้นทุนพลังงานรวมตํ่าที่สุดในปี 2030-2037 ตามพีดีพี 2024 ที่ 1.6-1.7% โดยคิดจากฐานราคาไฟฟ้าไม่เกิน 4 บาทต่อหน่วย.