สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ว่าจีนปฏิเสธข้อเสนอแนะที่นำโดยตะวันตกสำหรับการปฏิรูปสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการเรียกสิทธิเสรีภาพในฮ่องกง และกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ แต่ยอมรับข้อเสนอแนะอื่น ๆ จากประเทศพันธมิตร

การประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ปิดท้ายด้วยกระบวนการทบทวนที่ปักกิ่งหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ประจำปี 2565 ที่ระบุว่า การกักขังชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมอื่น ๆ ในซินเจียงอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นายโอมาร์ ซนิเบอร์ ประธานที่ประชุมกล่าวว่า จีนยอมรับเกือบร้อยละ 70 ของข้อเสนอแนะจากทั้งหมดมากกว่า 400 ข้อ

“ความก้าวหน้าและการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนบรรลุผลสำเร็จในจีนในแต่ละวัน” นายเฉิน สวี เอกอัครราชทูตจีนกล่าวต่อที่ประชุมยูเอ็นเอชอาร์ซี ว่าพวกเขาปฏิเสธข้อเสนอแนะที่มีแรงจูงใจทางการเมืองบนพื้นฐานของข้อมูลบิดเบือน, มีอคติทางอุดมการณ์ หรือแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของจีน และประณามความพยายามในการใส่ร้ายและโจมตี

ในทางกลับกัน นักวิจารณ์ของจีนมองว่า อัตราการยอมรับที่สูงนั้นได้ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ขณะที่นักการทูตตะวันตกกล่าวหาว่า จีนเข้าข้างตนเอง ด้วยการลงทุนทางการเมืองเพื่อปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนหน้านี้ รอยเตอร์สเคยเสนอรายงานว่า รัฐบาลปักกิ่งชักชวนประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก ให้ยกย่องสถิติของตน และขอให้พวกเขาให้คำแนะนำที่สร้างสรรค์

นายไซมอน แมนลีย์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร กล่าวว่า จีนปฏิเสธข้อเสนอแนะทุกประการ รวมถึงการเรียกร้องให้ยุติการประหัตประหารชาวอุยกูร์ และยกเลิกกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกง

ขณะที่นางมิเชล เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐ แสดงความผิดหวังกับการปฏิเสธของจีน “การละเมิดของจีนถือเป็นการปฏิเสธการประเมิน และข้อเสนอแนะของสหประชาชาติ และฝ่าฝืนหรือบ่อนทำลายพันธกรณีระหว่างประเทศ” เธอกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่น ๆ มีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น รวมถึงรัสเซีย ซึ่งชื่นชม “แนวทางที่สร้างสรรค์” ของจีน และแกมเบียที่ยกย่องความก้าวหน้าของประเทศ

อนึ่ง การทบทวนรายงานสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นไม่ได้มีลักษณะเฉพาะ และทุกประเทศจะต้องผ่านกระบวนการทุก ๆ 2-3 ปี ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลเพียงแห่งเดียว ที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เมื่อปี 2565 จีนได้รับชัยชนะทางการทูต หลังประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกส่วนใหญ่ ร่วมออกเสียงคัดค้าน การอภิปรายเกี่ยวกับรายงานสิทธิมนุษยชนในจีน.

เครดิตภาพ : AFP