เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยฯ จาก จ.เพชรบุรี, สมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, จันทบุรี เดินทางไปที่รัฐสภา เข้าพบ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ตั้งโดยคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ก่อนหน้านี้ นายณัฐชา ได้ติดตามการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และยังหยิบยกปัญหาเรื่องดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชน เข้าไปสอบถาม รมว.เกษตรฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่1) ช่วงเดือน ต.ค. 66 กระทั่งล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้รายงานข่าวประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช แถลงพบปลาหมอคางดำ อยู่ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช กำลังแพร่ระบาดส่งผลกระทบชาวบ้าน จึงได้เชิญเครือข่ายเฝ้าระวังปลาหมอคางดำ เข้าร่วมประชุมกับทางคณะ กมธ. โดยในที่ประชุมจึงมีมติให้เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ อธิบดีกรมประมง ภาคส่วนเอกชนเกี่ยวข้อง และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อหาสาเหตุต้นตอของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ จะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
ด้านนายปัญญา โตกทอง อยู่ในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่พบการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ครั้งแรกในประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงแรกชาวบ้านไม่รู้เป็นปลาอะไร มารู้ตอนไปร้องเรียนกรรมการสิทธิฯ ได้เรียกกรมประมงเข้าไปชี้แจง ทำให้รู้ว่าปลาหมอคางดำ ถูกนำเข้ามาที่ศูนย์ทดลองฯ ประมาณปี 53 หลังจากนั้นได้พบปลาหมอคางดำ ระบาดช่วงปลายปี 54 ทำให้จำนวนปลาท้องถิ่นเริ่มลดน้อยลงแบบผิดปกติไปจนถึงปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา มองว่ายังไม่ได้แก้เชิงนโยบาย แก้แบบอีเวนต์จัดเป็นครั้งคราวจึงแก้ไม่ได้ จนหลายคนถึงขั้นต้องเปลี่ยนอาชีพ ทางกลุ่มจึงเป็นตัวแทนออกมาเรียกร้องต่อสู้ เพราะอนาคตต่อไปพันธุ์ปลาอื่นตามธรรมชาติอาจจะสูญหายเหลือแต่ปลาหมอคางดำ อยากให้เกิดการจับแบบจริงจังพร้อมๆ กันในพื้นที่พบการระบาด ที่สำคัญหน่วยงานรัฐต้องมีการความจริงใจร่วมกันแก้ปัญหา ถือว่าโชคดีเรื่องนี้ ถูกนำเข้ามาในคณะ กมธ. ได้เห็นความสำคัญเพื่อหาทางแก้ปัญหา
นายณัฐชา กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางคณะอนุ กมธ. จะศึกษาหาสาเหตุและต้นตอเพื่อหาผู้รับผิดชอบให้ได้ ถึงแม้เรื่องนี้เกิดมากว่า 18 ปีแล้ว แต่ผลกระทบกำลังทำให้เกิดความเดือร้อนของพี่น้องประชาชน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่งผลต่อเรื่องเศรษฐกิจของไทยเป็นวงกว้าง อยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง และการประชุมของอนุ กมธ. อยากทราบความคืบหน้าของคณะกรรมการที่ตั้งโดยกระทรวงเกษตรฯ มีความคืบหน้าไปถึงไหน ได้ติดตามต้นตอสาเหตุครั้งนี้หรือไม่ว่า บริษัทเอกชนรายใดจะต้องมามีส่วนร่วมรับผิดชอบจริงจังเสียที การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติจะได้เดินหน้าต่อ ส่วนฝ่ายบริหารก็อย่าได้นิ่งนอนใจ วันนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ และกรมประมง ยังทำงานล่าช้าเกินไป ควรทำเมื่อ10 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องไม่ควรเกิดขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ต้องมีมาตรการแก้ปัญหาให้ชัดเจนมากกว่าการประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เพราะหลายเรื่องไม่ประสบผลสำเร็จ.