บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดการทดสอบล้ำหน้าไปอีกระดับกับ “LIVE – Cell Broadcast Service” ผ่านเสาสัญญาณจริง ให้ผู้ใช้งานมือถือทั้งทรู และดีแทคในพื้นที่ได้รับประสบการณ์แจ้งเตือนภัยจริงครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมเยี่ยมชมและให้เกียรติในการร่วมทดสอบโดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ที่อาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดาภิเษก ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการเตือนภัยสำหรับประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ BNIC พร้อมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทรู คอร์ปอเรชั่นใช้เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการกรณีเกิดภัยพิบัติ 24 ชั่วโมง

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  ทรูได้ พัฒนาระบบ เซลล์  บรอดแคสต์ เซอร์วิส หรือ ซีบีเอส และได้นำมาทดสอบการใช้งานจริงครั้งแรก โดยความร่วมมือของ  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงาน กสทช. และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยระบบ ซีบีเอสนี้เป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งานที่สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมกันทันที และแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที

“ระบบ ซีบีเอส จะมีทั้งสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดง เป็นป็อบอัพ ขึ้น บนหน้าจอ และรองรับ  เท็กซ์ ทู สปีซ เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือนแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย และ ระบบสามารถออกแบบการแจ้งเตือนได้ทุกภาษาและออกแบบส่งพร้อมกันได้ทันที โดยทดสอบแล้ว 5 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย”

นายมนัสส์ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยประสบภัยพิบัติทั้งจากภัยธรรมชาติ อุบัติภัย และภัยจากคนร้าย ส่งผลให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งทำให้ภัยธรรมชาติรุนแรงและถี่ขึ้น โดยปัจจุบันเราเข้าสู่ยุค โลกเดือด ซึ่งอาจนำมาสู่ภัยคุกคามและผลกระทบที่คาดไม่ถึง ทางทรู ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 50 ล้านเลขหมาย จึงพัมนาระบบนี้ขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 11 ว่าด้วยการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืน