นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 64 อยู่ที่ 41.1 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ อนุญาตให้เปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น ประกอบการติดเชื้อโควิด-19 ดีขึ้น การฉีดวัคซีนคาดว่าสิ้นปี  64 จะคลอบคลุมประชากรได้ 70% แม้ว่า ความเชื่อมั่นจะดีขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้การบริโภค จับจ่ายซื้อสินค้ากลับมาอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากค่าดัชนีฯ ยังต่ำกว่า 100 อย่างมาก และยังอยู่ในระดับใกล้จุดต่ำสุด

ทั้งนี้จึงต้องติดตาม 3 ปัจจัยสำคัญที่กระทบ คือ สถานการณ์น้ำท่วม จะสามารถคลี่คลายลงได้หรือไม่  ราคาน้ำมันในประเทศ มองว่า จะอยู่ในกรอบ 75-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และปัญหาการเมืองในประเทศถือเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นได้ค่อนข้างมาก 

“ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตไม่น้อย แต่การฟื้นตัวครั้งนี้ ถือว่า เห็นสัญญาณบวก แต่ดัชนีฯหลายตัว ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 ค่อนข้างมาก ดังนั้นต้องดูว่า รัฐบาลจะมีมาตรการใหม่ๆออกมาอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบได้มากกว่านี้หรือไม่ ส่วนประเด็นการเปิดประเทศ ก็ต้องดูว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน เพราะหากเปิดแต่ละจุดจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในระยะ 2 เดือนประมาณ 2-3 แสนคน จะเกิดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้ 1-2 หมื่นล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.05-0.1%”

อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป รวมไปถึงมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาล หากรัฐสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น น้ำท่วมคลี่คลาย การมีวัคซีน มายาเข้ามาช่วยรักษาซึ่งจะส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตน้อยลง เชื่อว่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นโอกาสทางเศรษฐกิจและทั้งปี เศรษฐกิจไทยจะโอกาสเติบโตได้อยู่ที่ 1-1.5% และในเดือนพ.ย. 64  ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะมีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหม่อีกครั้ง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 19.4 ลดลงจากระดับ 19.8 ในเดือนส.ค. 64 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ซึ่งดัชนีฯ ปรับตัวลดลงในทุกภาค และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากความวิตกกังวลโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย, ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตร, ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด

ทั้งนี้ผู้ประกอบการมองว่า กำลังซื้อของประชาชนยังซึมตัวต่อเนื่อง จากปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน การจ้างงานที่ยังไม่เต็มที่ นักท่องเที่ยวยังมาไม่เต็มที่ มันเป็นตัวกัดกร่อนโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัด แม้จะมีการคลายล็อกดาวน์บ้าง แต่ก็ยังไม่ช่วยให้ภาคธุรกิจมีมุมมองเชิงบวก สินเชื่อก็ยังเข้าไม่ถึง รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใหม่ๆ ที่หวือหวา ต้องรอดูช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง อบต. เพราะอาจจะมีผลช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะพลิกเศรษฐกิจในช่วงปลาย ต.ค.-ปลาย พ.ย.นี้ได้ ปัจจัยนี้เป็นตัวกระตุ้น อาจทำให้เศรษฐกิจคึกคักได้บ้าง