น.ส.มนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด  ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ทรูมันนี่ เปิดเผยว่า บริษัทได้นำ เจเนอเรทีฟ เอไอ (เจนเอไอ)  และแมชชีนเลิร์นนิง (เอ็มแอล) มาช่วยคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าถึงบริการทางการเงิน ทั้งในส่วนการอนุมัติสินเชื่อแบบเรียลไทม์ที่ใช้ เอไอ บริการการลงทุนที่เข้าถึงได้ง่าย และการชำระเงินระหว่างประเทศไปยังกว่า 39 ประเทศ นอกจากนี้ยังนำ เจนเอไอ มาเป็นผู้ช่วยเขียนโค้ดอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างระบบอัตโนมัติให้กับงานของวิศวกร เช่น การเขียนโค้ด เพิ่มผลิตภาพ และย่นระยะเวลาการพัฒนาบริการใหม่ๆ ได้มากถึง 30%

“ตามประมาณการมีประชากรราว 225 ล้านคน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ในขณะที่มีประชากรกว่า 350 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่ออย่างเป็นทางการได้ แอสเซนด์ มันนี่ เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ของประเทศไทย ที่ได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ที่ขาดการเข้าถึงบริการทางการเงิน 30 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อปี ด้วยการอนุมัติสินเชื่อแบบเรียลไทม์ที่ใช้ เอไอ  ซึ่งจะช่วยคัดกรองความเสี่ยง อนุมัติสินเชื่อได้ไว ลดจำนวนหนี้เสียลงได้”

นายสถาพร คิ้วสุวรรณสุข ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด กล่าวว่า ทรูมันนี่ ถือเป็นแอปที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่ต่างจากธนาคาร โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้า 30  ล้านราย มีทีมพัฒนา กว่า 600 คน ที่เป็นทีมเทคโนโลยี ดูแลระบบตลอด 24 ชั่วโมง

-Ascend Money กำลังทดลองใช้งาน Amazon Q Developer ซึ่งเป็นผู้ช่วยที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ขับเคลื่อนด้วย Generative AI สำหรับเร่งการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยสามารถสร้างโค้ด ทดสอบ และแก้จุดบกพร่องได้เร็วขึ้น 30%

-Ascend Money ใช้ Amazon Rekognition ซึ่งเป็นบริการ AI สำหรับการวิเคราะห์ภาพและวิดีโอ เพื่อวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของภาพใบหน้าจริงและปลอม ทำให้ Ascend Money สามารถตรวจจับความแตกต่างที่ละเอียดอ่อนของลักษณะใบหน้าที่มนุษย์มองไม่เห็น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และตรวจจับการฉ้อโกงในการสมัครขอสินเชื่อ

– Amazon Elastic Map Reduce (Amazon EMR) ซึ่งเป็นบริการข้อมูลขนาดใหญ่บนคลาวด์ Ascend Money ได้สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลที่มีความสามารถในการปรับขนาดได้สูง เพื่อยกระดับความปลอดภัยและประสบการณ์ของผู้ใช้ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลและแมชชีนเลิร์นนิง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและป้องกันการฟอกเงิน

ทั้งนี้ข้อมูลจาก อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ เอดับบลิวเอส ระบุว่า บริษัทด้านการเงินในประเทศไทยมีแผนที่จะใช้ เอไอ ภายในปี 71 โดยมุ่งหวังผลประโยชน์ในด้านนวัตกรรม ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และการทำงานอัตโนมัติ นอกจากนี้ ผู้ให้บริการด้านการเงินยังใช้ เอดับบลิวเอส เพื่อป้องกันการปลอมแปลงรายละเอียดส่วนบุคคลด้วยโมเดล เอไอ ที่สามารถตรวจสอบคุณลักษณะใบหน้าได้ภายในไม่กี่วินาที เพื่อให้ลูกค้าที่ถูกต้องได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่นมากที่สุด