และคล้ายกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ดำรงตำแหน่ง คืองานต่างประเทศ นายกฯ ไปเองเกือบหมด ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่า ที่ไปนั่นได้อะไรกลับมาบ้าง หรือแนวๆ ไปทัศนศึกษาดูงาน แต่ก็ไม่อยากจะว่า เพราะไม่แน่ว่า ถ้าประเทศไทยไม่ติดหล่ม กปปส.อยู่นานในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็อาจเห็นการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น

แต่สิ่งที่ทำให้เสี่ยนิดมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าสองนายกฯ ที่ผ่านมา คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร ที่เจ้าตัวขยันโพสต์ ขยันตอบเอง ไม่เหมือน “นายกฯ บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดูเหมือนจะใช้ทีมทำและปิดการแสดงความเห็น ทำให้เป็นเสน่ห์หนึ่งของนายกฯ เสี่ยนิดที่ดูเป็นคนเข้าถึงง่าย และเจ้าตัวก็ไม่ได้ทำหน้ามู้ดดี้ตลอดเวลา

เสี่ยนิดขยันสร้างผลงานมาก เรื่องหนึ่งคือการเดินทางไปเจรจาเพื่อการค้าระหว่างประเทศ การเปิดเขตการค้าเสรีเพิ่ม การตั้งผู้แทนการค้าเพิ่ม ตลอดจนบางงานนายกฯ ก็เดินทางไปเอง เพราะมีโอกาสได้พบปะผู้นำประเทศเขา และเสี่ยนิดมักจะชวนภาคธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งถ้าไล่มาตั้งแต่ตอนเป็นนายกฯ ใหม่ๆ ก็ไม่ทราบว่า “เชิญมาได้กี่เจ้าแล้ว”

เจ้าตัวก็พยายามย้ำว่า “ของแบบนี้ต้องใช้เวลา”เพราะการลงทุนเป็นหลักหมื่นหลักแสนล้านบาท มันต้องมีการพิจารณาความคุ้มค่าอะไรต่างๆ มาก อย่างเช่น ค่าขนส่ง ค่าจ้างแรงงาน การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการใช้พื้นที่และมาตรการทางภาษี ที่สำคัญ คือประชาชนไทยต้องมีส่วนร่วม ทั้งในด้านอยู่ในสายการผลิต หรือพัฒนาฝีมือแรงงาน

และล่าสุด เสี่ยนิดเดินทางไปอิตาลี ก็คาดการณ์ไม่ผิดเท่าไรว่า ประเทศนี้นายกฯ ต้องหาโอกาสไปเยือน เพราะเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางแฟชั่นซึ่งไทยพยายามส่งเสริมเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง โดยนายกฯ ได้นำผ้าย้อมคราม โครงการดอนกอยโมเดล ในดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปโชว์ ขายภูมิปัญญาไทย

เรื่องงานซอฟต์พาวเวอร์นี้ อาจเป็นงานที่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลรองจากเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็ได้ เพราะถ้ามองในแง่ดีคือ มันสร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยในการที่ศิลปวัฒนธรรมของชาติถูกนำเสนอต่อสากล จะมีคนเริ่มคิดครีเอทอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้มากขึ้นถ้ารัฐสนับสนุน ซึ่งก็ต้องรอดูกฎหมายซอฟต์พาวเวอร์ที่จะออกมา

ซึ่งต้องขอกันตรงๆ ว่า กฎหมายซอฟต์พาวเวอร์เพื่อสนับสนุนผู้มีความคิดสร้างสรรค์ก็อย่าใช้อะไรไท้..ไทยตีกรอบ ประเภทแบบ “ของมีครูตีความใหม่ไม่ได้”, “เนื้อหาต้องรักษาไว้ซึ่งสามสถาบันหลัก” อะไรอย่างนี้ เพราะสุดท้าย เนื้อหามันก็ไม่เป็นที่ดึงดูดให้คนสนใจ ก็เชยเหมือนงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสื่อกองทุนหนึ่ง

เดิมพันสำคัญของรัฐบาลนี้ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดึงดูดนักลงทุนเพื่อภาพของความทันสมัย ประกอบกับการที่นายกฯ ลงพื้นที่ต่างจังหวัดบ่อยครั้ง ก็เพื่อรักษาฐานเสียง เนื่องจากยังมีการผลิตวาทกรรมต่อพรรคเพื่อไทยซ้ำซากว่า “ตระบัดสัตย์” ในการร่วมรัฐบาล (แถมนับวันยิ่งมั่นหน้า ขนาดหัวหน้าพรรคบอกว่า ตัดสินใจไม่ผิดที่ตั้งรัฐบาลผสม)

ก็ไม่รู้จะมีอุบัติเหตุทางการเมืองอะไรกระทบเสี่ยนิด เช่น เผลอๆ อาจโดนถอดถอนกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ดังนั้นการเร่งทำงานก็ต้องให้เห็นภาพที่ชัดเจนให้ได้ใน 1-2 ปีของรัฐบาล เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงซึ่งการเลือกตั้งที่จะถึงน่าจะเป็นการวัดระหว่างเพื่อไทย-ก้าวไกล ซึ่ง ณ ขณะนี้ กองเชียร์แต่ละฝั่งก็อ้างว่าฝั่งตัวเองความนิยมสูงกว่า

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็อย่าประมาท เผลอๆ นายทักษิณอาจขายไม่ได้อีกต่อไป พรรคต้องทำผลงานเอง.