นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า (จท.) ได้เสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มายังกระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เบื้องต้นยังคงกรอบเวลาเดิมที่จะเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบโครงการฯ ได้ภายในเดือน ก.ค.-ก.ย. 67 จากนั้นภายในปี 68 จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คู่ขนานกับการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เริ่มก่อสร้างปี 72 จะเร่งรัดให้สามารถเปิดบริการได้ภายในปี 74
นางมนพร กล่าวต่อว่า จากการรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน เบื้องต้นพบว่า มีนักลงทุนให้ความสนใจ 3 ราย ประกอบด้วย นักลงทุนในไทย 2ราย ได้แก่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และกลุ่มนักธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต/สมุย และนักลงทุนในต่างประเทศ 1 ราย ได้แก่ บริษัทเดินเรือในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ จท. วางแผนพัฒนาท่าเทียบเรือฯ ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือ ทั้งฝั่งอ่าวไทย ที่จะรองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ และท่าเรือปลายทางที่ฮ่องกง โดยจอดที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นอกจากนี้ ยังครอบคลุมเส้นทางเดินเรือฝั่งอันดามัน เพื่อรองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ แวะเข้าจอดที่เกาะภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นการลงทุนแบบ PPP สัมปทาน 30 ปี อยู่บนพื้นที่บริเวณแหลมหินคม ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย มีพื้นที่รวมประมาณ 47 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่บนชายฝั่ง ได้แก่ อาคารบริการและที่จอดรถ และถนนสาธารณะ 15 ไร่ พื้นที่นอกชายฝั่ง ได้แก่ สะพานขึง อาคารผู้โดยสาร 3 ชั้น และท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ และเรือยอชท์ 32 ไร่ โครงการดังกล่าววงเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน, ค่าก่อสร้าง, ค่าลงทุนงานระบบและค่าควบคุมงานก่อสร้าง รวมกว่า 6.5 พันล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา กว่า 5.7 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ท่าเรือดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญขนาดใหญ่ ยกระดับการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทย และส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน เพิ่มรายได้ให้ประชาชน และประเทศ โดยจะสามารถรองรับเรือสำราญได้พร้อมกัน 2 ลำ ได้แก่ เรือสำราญขนาดใหญ่ 4,000 คน เรือสำราญขนาดกลาง 2,500 คน และรองรับเรือยอชท์สูงสุด 80 ลำ เรือเฟอร์รี่สูงสุด 6 ลำ ซึ่งท่าเรือมีขนาดความยาวหน้าท่า 362 เมตร ความลึกร่องน้ำ 12 เมตร อาคารผู้โดยสารบรรจุ 3,600 คน คาดการณ์รายได้ของโครงการตลอดระยะเวลาโครงการ มีมูลค่า 8,504 ล้านบาท สัดส่วนของรายได้โครงการแบ่งเป็น รายได้จากท่าเทียบเรือ 91% และรายได้เชิงพาณิชย์ 9%.