นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ธนาคารสมาชิกทั้งสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารนานาชาติ รวม 29 แห่งลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิตอลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน เพื่อช่วยเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินแบบดิจิทัลให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลการเงินของตนเอง โดยนำร่องการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก หรือแบงก์สเตตเมนต์ มีสถาบันการเงินเข้าร่วมส่วนแรก 10 แห่งครอบคลุม 98% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด จะเริ่มได้เดือน ม.ค.65

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริการทางการเงินดิจิทัลก้าวหน้าไปมาก คนไทยใช้โมบายแบงก์กิ้งและอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งสูงสุด 100 ล้านรายการในเดือน มี.ค.64 ทำให้เกิดข้อมูลทางการเงินขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างกัน ซึ่งประชาชนยังใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ไม่เต็มที่ เช่น การเรียกใช้ข้อมูลของตนเองจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งเพื่อขอใช้กับอีกแห่งหนึ่ง ขั้นตอนยุ่งยาก ขอข้อมูลแบบเอกสารกระดาษ และเป็นต้นทุนทั้งสถาบันการเงินและประชาชน จึงพัฒนาเกิดเป็นมาตรฐานนี้ ประเดิมใช้กับแบงก์สเตตเมนต์ หากขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งนี้สามารถขอแบงก์สเตตเมนต์กับอีกแห่งได้ทันที ไม่ต้องเดินทางหรือกรอกข้อมูลใหม่

น.ส.พีรจิต ปัทมสูต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ความร่วมมือเชื่อมข้อมูลข้ามสถาบันการเงินเริ่มแรกจะทำกับแบงก์สเตตเมนต์ก่อน โดยเจ้าของข้อมูลจะต้องยินยอมก่อนเท่านั้น และระบุว่าขอข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ใด ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเป็นปัญหาเพราะสถาบันการเงินมีขั้นตอนมาก ยุ่งยาก ต้องดูว่าปลอมหรือไม่ ชัดเจนครบถ้วนแค่ไหน และกำลังดูความเป็นไปได้ใช้กับภาคธุรกิจ เช่น เรื่องการตรวจสอบบัญชี หรือขยายสู่ภาคที่ไม่ใช่แค่สถาบันการเงิน เช่น การขอวีซ่าต่างประเทศ ซึ่งสถานทูตอาจเชื่อมข้อมูลขอดูแบงก์สเตตเมนต์ได้ทันที

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร พนักงานปฏิบัติงานพิเศษ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ค่าธรรมเนียมกำหนดเพดานราคาไว้ไม่เกิน 75 บาท แต่การกำหนดราคาจริงให้สถาบันการเงินกำหนดเองเพื่อเกิดการแข่งขัน เนื่องจากบริการช่องทางดิจิทัล สามารถลดต้นทุนได้ และให้กลไกตลาดทำงาน เชื่อว่ามีการแข่งขัน เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับพร้อมเพย์ เช่น บางสถาบันการเงินอาจไม่คิดค่าธรรมเนียม หรือ 20 บาท แต่จะลดลงมากจากเดิมคิดอัตรา 100-200 บาท

“สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้ขอสินเชื่อจะเป็นผู้ยินยอมเอง ธนาคารจะไม่สามารถดึงข้อมูลเองได้ เป็นมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า มั่นใจได้ว่าข้อมูลเก็บได้อย่างปลอดภัย ต่อไปประชาชนจะได้รับบริการทางการเงินใหม่ๆที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น ซึ่งแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ทำให้เป็นบริการทางการเงินดิจิทัลโดยสมบูรณ์ไม่ใช้รูปแบบกระดาษ ไม่เป็นค่าใช้จ่ายลูกค้าที่จะต้องเสียค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียมสูง”

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การพัฒนาบริการนี้เพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างมาตรฐานส่งแบงก์สเตตเมนต์ในรูปแบบดิจิทัลข้ามธนาคาร ทำให้ธนาคารนำรูปแบบดิจิทัลเชื่อมโยงกันนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ และยังเร่งให้ธนาคารปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล เพื่อยกระดับการเงินดิจิทัลอีกด้วย

นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เริ่มต้นที่เชื่อมข้อมูลแบงก์สเตตเมนต์ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดการปลอมแปลงของกระดาษ และสนับสนุนการใช้ดิจิทัล เพื่อพัฒนาบริการทางการเงินสู่ยุคดิจิทัล ให้ประชาชนได้รับบริการต่อไป

สำหรับสถาบันการเงินทั้ง 10 แห่งนำร่องเชื่อมข้อมูลแบงก์สเตตเมนต์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร