นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 64 คาดจะขยายตัวแค่ 1% จากเดิม 2.2% และคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัว 3.6% ซึ่งมองว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวกว่าจะเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ต้องใช้เวลาถึงปี 66 โดยการระบาดของโควิดยังกระทบกับภาครัวเรือนทำให้ตกงาน และภาคธุรกิจเอสเอ็มอีขาดรายได้ ส่งผลให้ในปี 64 ประเทศไทยมีผู้ที่มีความยากจนเพิ่ม 1.7 แสนคน เมื่อเทียบกับปี 63

ทั้งนี้การขยายตัวเศรษฐกิจในปี 65 จะเป็นการฟื้นตัวแต่ยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในปี 66 เนื่องจากการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวทำได้ล่าช้า และการกระจายวัคซีนกว่าจะถึง 70% ของประชากรทั้งหมดในไทยต้องใช้เวลาครึ่งปีแรกของปี 65 ซึ่งมีผลต่อการเปิดรับต่างชาติเที่ยวไทย คาดว่าในปี 65 นักท่องเที่ยวจะมี 1.7 ล้านคนเพิ่มจากปี 64 ที่จะมี 1.6 แสนคน แม้จะเพิ่มไม่มากแต่ก็เป็นทิศทางการฟื้นตัว และดีกว่าปี 63 เพราะมีโมเดลภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัส โมเดล

นอกจากนี้ภาคส่งออกยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรและสินค้าเพื่อการผลิตเริ่มมีการฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี จากฟื้นตัวของประเทศใหญ่และจีน ในขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศยังไม่สามารถพึงบริการได้ จึงหันมาซื้อสินค้ามากขึ้น หลังจากนี้การเดินทางยังจำกัด ส่วนในประเทศ การลงทุนเอกชน การบริโภคจะค่อยๆฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป การส่งออกเติบโตได้ และนโยบายการคลังจะเป็นแรงสนับสนุนหลักในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ภาคครัวเรือนตกงานและเอสเอ็มอีขาดรายได้

ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอ จากรัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี และได้มีวงเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถกู้เพิ่มได้อีกเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในปี 65 โดยมองว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นสิ่งที่ดี เพราะเพิ่มโอกาสรัฐจะประคับประคองระยะสั้น และช่วยการลงทุน ช่วยเศรษฐกิจระยะกลาง ซึ่งช่วงก่อนโควิดระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 43% จากคำนวณแบบจำลองเวิลด์แบงก์ไทยยังมีโอกาสเพิ่มหนี้มากกว่า 60% เป็นการชั่วคราว และในช่วงเศรษฐกิจฟื้นฟู มีการลงทุนและเติบโตหลังโควิด หนี้สาธารณะจะลดลงต่ำกว่า 60%

ขณะที่ความเสี่ยงหนี้สาธารณะในด้านต่างประเทศมีต่ำ เพราะส่วนใหญ่จะกู้เงินจากในประเทศเป็นหลัก ทำให้ความเสี่ยงหนี้ต่างประเทศต่ำมาก และการขยายเพดานหนี้ ช่วยให้ไทยขยายความช่วยเหลือหากสถานการณ์แย่ลงได้ ถ้าจะทำได้ดีต้องโปร่งใส ลงทุนอย่างไร เยียวยาอย่างไร รัฐบาลต้องใช้เงินให้เฉพาะเจาะจง ตรงกลุ่ม ให้กับคนต้องการความช่วยเหลือจริง เงินช่วยเหลือจะได้มีประสิทธิภาพ