นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ร่วมกับ พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (ผบก.ตม.2) เพื่อตรวจความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารช่วงวันหยุดยาว ตามนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค พร้อมกับมีข้อกำชับให้ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการให้บริการในทุกจุด ตั้งแต่ผู้โดยสารลงเครื่อง ระบบการตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) การให้บริการภาคพื้น และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้เดินทางจากทั่วโลก เพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย
นายกีรติ กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการให้บริการพบว่า นับตั้งแต่เทศกาลปีใหม่ มีผู้โดยสารมาใช้บริการในชั่วโมงคับคั่งประมาณ 5-6 พันคนต่อชั่วโมง มีผู้โดยสารรอคิวในกระบวนการรวมที่จุดตรวจค้น และจุดตรวจหนังสือเดินทาง ในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารหนาแน่นสูงสุดอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 10 นาที และมีระยะเวลารอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 46 นาที ซึ่งยังคงนานเกินกว่าที่ ทอท. ตั้งเป้าไว้ว่า ทั้งกระบวนการระยะเวลารอรวม ไม่ควรเกิน 30 นาที ดังนั้น ทอท. จึงมีนโยบายเร่งด่วนในการปรับปรุงคุณภาพ และเพิ่มความเร็วในการให้บริการ ดังนี้ 1.จัดจ้างเจ้าหน้าที่สนับสนุนกระบวนการตรวจค้น และเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในท่าอากาศยาน 800 อัตรา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ภายในวันที่ 30 มี.ค.67
2. ประสานความร่วมมือจาก ตม.2 ในการจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจลงตราให้เต็มทุกเคาน์เตอร์ก่อนเข้าสู่ชั่วโมงคับคั่ง และการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ ซึ่งทาง ตม.2 บรรจุเจ้าหน้าที่ใหม่แล้ว 200 อัตรา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอบรมภาคทฤษฎี คาดว่าจะสามารถเริ่มปฏิบัติงานได้จริงตั้งแต่ 1 มี.ค.นี้ รวมทั้งยังมีแผนจะขอบรรจุอัตรากำลังเพิ่มอีก 400 อัตรา รวมเป็น 600 อัตราภายในปี 67, 3.ติดตั้งระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automatic channels) ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า และขาออกเพิ่มเติม ตลอดจนพัฒนาซอฟต์แวร์ของระบบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 80 ช่องตรวจ โดยจะติดตั้งระบบ 20 ชุดแรก ภายในวันที่ 15 มิ.ย.ปีนี้ และจะติดตั้งให้แล้วเสร็จทั้งหมด ภายในวันที่ 15 ก.ค.67
4.ประสานความร่วมมือในการขออนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการตรวจค้นให้สอดรับกับรูปแบบการเดินทางในปัจจุบัน เช่น การตรวจ Power bank รวมถึงการลดขั้นตอนการถอดรองเท้าของผู้โดยสาร โดย ทอท.ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนแล้ว สามารถลดขั้นตอนบางส่วนลงได้ แต่ยังคงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ซึ่งทั้งหมดจะช่วยลดระยะเวลาบริการ และความแออัดของผู้โดยสารขาออกได้อย่างมีนัยสำคัญ
นายกีรติ กล่าวอีกว่า สำหรับการอำนวยความสะดวก และเพิ่มความรวดเร็วในการเช็กอินของสายการบินปัจจุบัน ทสภ. ได้นำระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) ซึ่งประกอบด้วยบริการอัตโนมัติหลายระบบมาให้บริการ ณ บริเวณโถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร เน้นการให้ผู้โดยสารใช้บริการด้วยตนเอง (Self Service) ลดการรอคิว อาทิ ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) พร้อมกันนี้ยังร่วมกับ 24 สายการบิน เปิดให้ผู้โดยสารสามารถทำการเช็กอินก่อนเวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง ที่จะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถบริหารการเดินทางได้โดยสะดวก มีเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนออกเดินทางมากขึ้น และลดความแออัดบริเวณโถงผู้โดยสารขาออกด้วย
นายกีรติ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล ทอท. ยังอยู่ระหว่างการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการของท่าอากาศยานภายใต้การบริหารของ ทอท. อีกหลายโครงการโดยเฉพาะ ทสภ. ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทางวิ่งให้รองรับเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในกลางปี 67
โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ที่จะเป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออกของอาคารเดิมเพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการ โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ. อีก 15 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 67 แล้วเสร็จในปี 70 สำหรับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ที่ได้เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของ ทสภ.จาก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลักดันให้สายการบินเพิ่มบริการ ณ SAT-1 เพิ่มขึ้น รวมถึงให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการภาคพื้นมีความพร้อมด้านอุปกรณ์และบุคลากรเพื่อรองรับสายการบินที่ไปให้บริการที่ SAT-1 ซึ่งจะสามารถเพิ่มศักยภาพการรองรับเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารของ ทสภ. ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย.