นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้ประกอบการสายการบิน ผู้ให้บริการภาคพื้น คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการให้บริการภาคพื้น ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับข้อร้องเรียนจากนักธุรกิจ และสายการบินว่าไม่ได้รับความสะดวกในการให้บริการภาคพื้น ซึ่งปัจจุบัน ทสภ. มีผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น 2 บริษัท คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท Bangkok Flight Services (BFS) นอกจากนี้ ยังได้ฟังปัญหาจากทุกฝ่าย รวมทั้งผู้แทนสายการบินที่ใช้บริการภาคพื้นจากบริษัท การบินไทยฯ ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ว่าพบปัญหาอุปกรณ์ที่นำมาให้บริการไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย รวมทั้งปัญหาด้านบุคลากรมีการลาออก และบุคลากรที่เข้ามาปฏิบัติงานแทนไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งปัญหาที่พบ คือ หลุมจอดเครื่องบินที่มีสะพานเทียบอยู่ติดกับอาคารที่พักผู้โดยสาร (Contact Gate) มีจำนวนไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากมีการซ่อมทางขับ (taxiway) เพื่อให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งปัญหานี้มีแนวทางการแก้ปัญหาโดยให้สายการบินไปใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) แต่สายการบินยังมีความกังวลเรื่องระบบการจัดการสัมภาระ อย่างไรก็ตามได้มอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น หารือร่วมกันถึงแนวทางแก้ปัญหา และพิจารณาหาข้อสรุปในการย้ายไปใช้อาคาร SAT-1 ภายใน 2 สัปดาห์ และรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบ
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากนั้นจะประเมินคุณภาพการให้บริการของบริษัท การบินไทยฯ เป็นรายเดือน ว่ามีการปรับปรุงการให้บริการ และแก้ไขปัญหาอย่างไร หากไม่ปรับปรุงให้ดีขึ้น และกระทรวงคมนาคมยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนด้านการให้บริการ อาจต้องยกเลิกสัญญากับบริษัท การบินไทยฯ ซึ่งปัจจุบันยังเหลือสัมปทานประมาณ 12 ปี โดยตามสัญญาสามารถยกเลิกได้ทันที หากให้บริการไม่ได้ตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น กรณีที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัท ไม่มีความพร้อมในการให้บริการภาคพื้นได้เพียงพอ จะให้บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จํากัด (AOTGA) เข้ามาช่วยดำเนินการให้บริการภาคพื้นเป็นการชั่วคราว โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัทก่อน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ขณะนี้ ทอท. เตรียมเปิดประกวดราคาจัดหาผู้ร่วมลงทุนบริการภาคพื้นรายใหม่ ซึ่งเป็นรายที่ 3 อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือน เม.ย. 67 ได้ผู้ชนะการประกวดราคา และลงนามนามสัญญากับเอกชนประมาณเดือน ก.ค. 67 จากนั้นจะเริ่มดำเนินการให้บริการภาคพื้นทันที อย่างไรก็ตาม ยังได้เน้นย้ำเรื่องการใช้หลุมจอดเครื่องบิน ซึ่งต้องให้ทุกเที่ยวบินได้เข้าใช้งานหลุมจอด ไม่ต้องให้ผู้โดยสารต้องนั่งรถเพื่อไปขึ้นเครื่องบิน หรือมายังอาคารผู้โดยสาร (Bus Gate) เหมือนปัจจุบัน เบื้องต้นจะให้สายการบินที่ใช้ Bus Gate ประมาณ 140 เที่ยวบินต่อวัน ไปใช้อาคาร SAT-1 ให้ได้ประมาณ 100 เที่ยวบินต่อวัน
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า อาคาร SAT-1 มีทั้งหมด 28 หลุมจอด มีความพร้อมให้บริการทุกหลุมจอดตลอด 24 ชั่วโมง มีขีดความสามารถในการรองรับ 400 เที่ยวบินต่อวัน ขณะที่ปัจจุบันมีมาใช้บริการ 82 เที่ยวบินต่อวัน ทั้งนี้ มั่นใจว่าการเข้ามาใช้บริการเพิ่มอีก 100 เที่ยวบินต่อวัน จะไม่เกิดปัญหาใดๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบิน ที่ ทสภ. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะภายหลังจากรัฐบาลมีนโยบายวีซ่าฟรีจีน, อินเดีย และคาซัคสถาน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 จากประมาณ 800 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 1,000 เที่ยวบินต่อวัน
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทยฯ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงมั่นใจในคุณภาพการบริการภาคพื้นให้แก่สายการบินที่เป็นลูกค้ากว่า 50 สายการบิน ยอมรับว่าที่ผ่านมามีให้บริการล่าช้าบ้าง แต่ได้พยายามปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการที่ดีขึ้น โดยขณะนี้ได้สั่งอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาเพิ่มเติมแล้ว คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น.