ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) แจ้งว่า รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถนนราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี งบประมาณ 1,181.515 ล้านบาท ผลงานก้าวหน้ากว่า 20% เร็วกว่าแผน อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงสร้างฐานราก และงานประกอบชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็ก คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 68

จุดเริ่มต้นงานก่อสร้างประมาณ กม.ที่ 12+850 ไปสิ้นสุดงานก่อสร้างประมาณ กม.ที่ 15+100 ลักษณะโครงการจะเป็นรูปแบบก่อสร้างสะพานเหล็กขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง (ไป-กลับ) กว้าง 8.50 เมตร ฝั่งขาเข้าสะพานมีความยาว 2.10 กิโลเมตร (กม.) และฝั่งขาออกสะพานยาว 1.90 กม. รวมทั้งมีงานก่อสร้างระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และงานเบ็ดเตล็ด

ในช่วงระหว่างก่อสร้าง ทช. ได้ติดตั้งแบริเออร์และติดตั้งป้ายเตือนลดความเร็วให้ประชาชนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงได้ปิด-เบี่ยงช่องจราจรจำนวน 3 จุด ดังนี้ ช่วง กม.ที่ 12+900 ถึง กม.ที่ 15+100 บริเวณช่องจราจรคู่ขนาน 1 ช่องจราจร, ช่วง กม.ที่ 12+950 ถึง กม.ที่ 14+600 บริเวณช่องจราจรคู่ขนาน 1 ช่องจราจร และ ช่วง กม.ที่ 13+300 ถึง กม.ที่ 14+600 บริเวณช่องจราจรหลักช่องขวาสุด 1 ช่องจราจร ขาออกมุ่งหน้า จ.นนทบุรี ซึ่งจะทำการเบี่ยงไปจนกว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ผู้ใช้เส้นทางโปรดสังเกตป้ายจราจร รวมถึงปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำ อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง และต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้

ปัจจุบันอัตราการเจริญเติบโตของการใช้ที่ดินในพื้นที่ จ.นนทบุรี ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะริมเขตทางของถนนราชพฤกษ์ ส่งผลให้ถนนราชพฤกษ์ ไม่สามารถรองรับการจราจรที่มีปริมาณหนาแน่นมากถึง 110,000 คันต่อวัน โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของถนนราชพฤกษ์ลดลง เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยิ่งบริเวณช่วงสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ที่สภาพเป็นคอขวดมีการจราจรติดขัด เนื่องจากเขตทางไม่เพียงพอที่จะก่อสร้างทางขนานในรูปแบบทั่วไปได้

ดังนั้นจึงต้องดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ให้อยู่ในเขตทางเดิม ซึ่งจะสามารถลดปัญหาสภาพคอขวดและการจราจรในพื้นที่ได้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรบนทางขนานถนนราชพฤกษ์ บริเวณจุดคอขวด พร้อมรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต และสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น