เรอโนด์ โมริเยอซ์ อาจารย์ประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เปิดเผยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าทึ่งจากการศึกษาจดหมาย 104 ฉบับที่ครอบครัวจากแนวหลังเขียนถึงทหารชาวฝรั่งเศส ซึ่งถูกทิ้งให้จมกองฝุ่นมาเป็นเวลานานถึง 256 ปี

จดหมายเหล่านี้เผยให้เห็นบางส่วนเสี้ยวของชีวิตของเหล่าทหารและครอบครัวในยุคศตวรรษที่ 18 และเป็นจดหมายที่ไม่เคยมีการนำส่งถึงมือผู้รับ เพราะกองทัพราชนาวีแห่งอังกฤษ ดักจับจดหมายเหล่านี้และเก็บไว้ในช่วงที่เกิด “สงครามเจ็ดปี” ซึ่งมีที่มาจากความขัดแย้งระหว่างฝั่งพันธมิตรอังกฤษและฝั่งพันธมิตรฝรั่งเศส กินเวลาจาก ค.ศ. 1756-1763

มารี ดูบอสก์ ภรรยาของ ร้อยโทหลุยส์ ฌองแบร์แลง นายทหารที่ประจำการอยู่ในเรือรบฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1758 เขียนจดหมายถึงสามีของเธอว่า “ฉันคงเขียนจดหมายถึงคุณได้ทั้งคืน ฉันคือภรรยาผู้ซื่อสัตย์ของคุณตลอดไป”

มารี ดูบอสก์ ไม่เคยรู้ว่า เรือรบกาลาเตที่สามีของเธอประจำการอยู่นั้น โดนกองทัพอังกฤษยึดไปแล้ว และจดหมายจะไม่ได้ส่งถึงมือเขา

หลุยส์ ไม่เคยได้รับจดหมายของเธอ ส่วน มารี ก็เสียชีวิตในปีถัดมาหลังจากที่เขียนจดหมายฉบับนั้น ก่อนหน้าที่สามีของเธอจะได้รับการปล่อยตัวจากกองทัพอังกฤษเพียงไม่นาน

จดหมายอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ไว้ว่าเขียนเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.​1758 จาก มาเกอริต เกสเนล แม่วัย 61 ปีของทหารหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่อว่า นิโกลาส์ เกสเนล จากนอร์มังดี ซึ่งในเนื้อหาบ่งชี้ว่า ลูกชายแทบไม่ได้ส่งข่าวถึงแม่ นอกจากเล่าถึงอาการป่วยของเธอแล้ว เธอจึงเอ่ยคำชมเชยเพื่อนร่วมเรือรบของเขาที่ช่วยส่งข่าวของเขาผ่านภรรยามาให้เธอ

นิโกลาส์ ก็อยู่ในเรือรบกาลาเตเช่นกัน เรือลำนี้โดนกองทัพอังกฤษยึดได้ระหว่างเดินทางจากบอร์โดซ์ไปยังควิเบคในปี ค.ศ. 1758

จดหมายที่ มาเกอริต เกสเนล เขียนถึงลูกชายของเธอ ซึ่งลงวันที่ไว้เมื่อ 27 มกราคม ค.ศ. 1758

จดหมายเหล่านี้เขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1757-1758 แต่ส่งไม่ถึงมือทหารในเรือรบกาลาเต แม้ว่าการไปรษณีย์ฝรั่งเศสจะพยายามส่งจดหมายไปยังท่าเรือต่าง ๆ หลายแห่งเพื่อส่งถึงมือเหล่าทหาร แต่ก็ไม่ทัน เพราะเรือกาลาเตโดนกองทัพอังกฤษยึดไปเสียก่อน

แต่ไปรษณีย์ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขาส่งต่อจดหมายไปยังประเทศอังกฤษ ซึ่งถูกส่งไปยังสำนักงานกองทัพเรืออังกฤษในกรุงลอนดอน และโดนเก็บเข้ากล่องเก็บของโดยที่ไม่มีการจัดส่งถึงมือผู้รับตามจ่าหน้า

ศาสตราจารย์โมริเยอซ์ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่กองทัพเรืออาจจะเปิดจดหมายเหล่านี้ดูราว 2-3 ฉบับ เพื่อตรวจสอบว่ามีข้อมูลสำคัญทางการทหารหรือไม่ แต่เมื่อพบว่าเป็นเพียง “เรื่องทางบ้าน” ของทหารฝรั่งเศส จึงเลิกสนใจและเก็บเข้ากรุไป จนกระทั่ง โมริเยอซ์ รู้เรื่องนี้

เขาขอเบิกจดหมายเหล่านี้ออกมาดูเพราะความอยากรู้อยากเห็น และไม่คาดคิดว่าจะค้นพบข้อมูลที่น่าทึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของรายงานการค้นพบของเขาที่เพิ่งเผยแพร่ในวารสาร “Annales. Histoire, Sciences Sociales” เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

เมื่อเขาได้รับจดหมายครั้งแรก พวกมันมีอยู่ 3 กองเล็ก ๆ จดหมายกว่าร้อยฉบับ ถูกมัดไว้ด้วยริบบิ้นเก่าแก่ และ โมริเยอซ์ รู้ในคราวนั้นเองว่าเขาคือคนแรกที่ได้เปิดจดหมายส่วนตัวเหล่านี้ออกมาอ่าน หลังจากที่คนเขียนเขียนเสร็จและพับใส่ซองเมื่อ 256 ปีก่อน

เนื่องจากจดหมายไม่เคยถึงมือผู้รับ เขาจึงรู้สึกว่าเรื่องราวในจดหมายน่าสะเทือนใจมาก

โมริเยอซ์ ระบุตัวสมาชิกของเรือรบกาลาเตทั้ง 181 คนได้ โดยอาศัยจ่าหน้าของจดหมายที่ระบุตัวผู้รับ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 ใน 4 ของลูกเรือทั้งหมด นอกจากนี้เขายังทำงานวิจัยเพื่อย้อนหาลำดับวงศ์ตระกูลของลูกเรือและครอบครัวของพวกเขาอีกด้วย

ระหว่างเกิดสงครามเจ็ดปี มีทหารฝรั่งเศสเกือบ 65,000 คนโดนกองทัพอังกฤษคุมขังไว้ บางส่วนเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและภาวะทุพโภชนาการ ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว 

โมริเยอซ์ กล่าวว่า จดหมายคือช่องทางการติดต่อสื่อสารของทหารและครอบครัวของพวกเขาเพียงช่องทางเดียว เนื้อหาของจดหมายที่สะท้อนภาพของการอยู่ห่างไกลจากบุคคลอันเป็นที่รักจึงนับเป็นประสบการณ์สากลที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่เฉพาะคนฝรั่งเศสหรือคนในจากยุคนั้น

โมริเยอซ์ กล่าวว่า “ทุกวันนี้เรามีแอปซูมและวอตส์แอป ส่วนในศตวรรษที่ 18 คนยุคนั้นมีเพียงจดหมาย แต่สิ่งที่พวกเขาเขียนเพื่อสื่อความรู้สึกก็เหมือน ๆ กันกับของเรา”

เครดิตภาพ : AFP