เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าให้การต่อคณะกรรมการสอบสวน กรณีที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ยุติการศึกษาเชื้อไวรัสจากค้างคาว โดยมีประชาชนกว่า 60 คน เข้ามาให้กำลังใจ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การสอบสวนครั้งนี้ ไม่ได้ระบุว่าจะสอบสวนประเด็นใดบ้าง ซึ่งผิดปกติของการสอบสวน แต่ตนเชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการสอบครั้งนี้ เกิดจากการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพอุบัติใหม่ฯ ที่ตนเป็นผู้อำนวยการนั้น ได้ประกาศยุติการศึกษาเชื้อไวรัสจากค้างคาวว่า มีแนวโน้มจะเข้าในมนุษย์ได้หรือไม่ โดยที่ผ่านมา ได้เริ่มเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2011 ผ่านความเห็นชอบจาก รพ.จุฬาฯ ซึ่งได้ทุนวิจัยจากองค์กรต่างประเทศ โดยตนถือเป็นผู้รับผิดชอบกรณีที่เกิดความผิดพลาด จนกระทั่งตัดสินใจยุติโครงการเมื่อปี 2020 และได้ทำรายงานแจ้งไปทางคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาฯ เมื่อปี 2021 และแจ้งไปยังเครือข่ายขององค์การอนามัยโลก (WHO) จึงเชื่อมั่นว่ากระบวนการขั้นตอนการยุติการร่วมโครงการเป็นไปตามระเบียบ ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องยุติการร่วมโครงการ เพราะเรามีความเชื่อว่า การศึกษาเชื้อไวรัสที่ไม่ทราบชื่อมาถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อดูแนวโน้มว่าจะเกิดโรคได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา เราไม่ได้เพาะไวรัสให้มีการเพิ่มจำนวนขึ้น ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และเราก็ไม่ได้ส่งไวรัสเหล่านี้ไปต่างประเทศ

“ย้อนไปเมื่อปี 2019 มีการทาบทามจากองค์กรที่ชื่อว่า Ecohealth Alliance ที่ได้รับทุนมาจากสหรัฐอเมริกา องค์กรนี้ได้มาติดต่อเรา ว่า จะให้เราร่วมตั้งเป็นศูนย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราต้องนำไวรัสที่เก็บเอาไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงไวรัสที่ต้องเก็บใหม่ ส่งไปยังต่างประเทศ เพื่อศึกษาว่าไวรัสสามารถเข้าในมนุษย์ได้หรือไม่ หรือทำให้เกิดโรคหรือไม่ ซึ่งหากการศึกษาเข้าได้ไม่ดี ก็จะมีการตัดต่อพันธุกรรมเพิ่มเพื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่เราตัดสินใจทำลายตัวอย่างทั้งหมด ปริมาณเยอะมาก มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการตรวจโควิด-19 เยอะมาก ดังนั้น เราเริ่มที่จะทำลายเชื้อในปี 2022 โดยจะต้องไม่กระทบกับตัวอย่างอื่นในการศึกษาวิจัยที่ไม่อันตราย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Washington Post ถามถึงสาเหตุผลของการยุติศึกษาไวรัสจากค้างคาว เราได้ตอบไปในประการแรกว่า เราไม่พบประโยชน์ในการคาดคะเนว่าเชื้อจะเข้ามนุษย์ได้หรือไม่ และประการที่ 2 คือความสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อในขณะที่ลงพื้นที่นำเชื้อมาศึกษา รวมถึงการติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ ซึ่งก็เป็นความกังวลว่าอาจจะมีการติดเชื้อในชุมชนและทั่วไปได้ จึงทำให้เราเริ่มทำลายตัวอย่างเชื้อ ตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย. แล้วต่อมาเราก็ได้ทราบว่าทาง รพ.จุฬาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเดือน ก.ค.

“ต้องถามว่าการกระทำในลักษณะนี้ เป็นการป้องกันอันตรายอย่างเข้มงวด ไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศไทย เราไม่ต้องการให้มีการระบาดแบบอู่ฮั่น 2 ซึ่งขณะนี้พบความเชื่อมโยงวันเกิดโควิด-19 จากเครือข่ายเหล่านี้ โดยการให้ทุนของสหรัฐกับประเทศต่างๆ รวมถึงสถาบันวิจัยไวรัสในอู่ฮั่น และหลังจากที่ประเมินแล้ว โควิด-19 นั้น ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นจากธรรมชาติ แต่หลักฐานทั้งหลาย พุ่งตรงไปที่มีการตัดต่อพันธุกรรมและหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการ เรื่องนี้ผมไม่ได้พูดเอง แต่เป็นเรื่องของการสืบสวนจากสภาคองเกรส (United States Congress) ซึ่งเป็นที่รับทราบการในสื่อมวลชนทั้งหลาย ขณะเดียวกันก็มีการสอบสวนบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ซึ่งเป็นบุคคลที่ให้ทุนเรา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่เราทำลายตัวอย่างเหล่านี้หมด ก็ยังมีการติดต่อมาขอตัวอย่าง ทำให้เราตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีการเอาตัวอย่างไปศึกษาต่อ หรือส่งต่อไปต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การตัดต่อพันธุกรรมหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้วเกิดการระบาดในต่างประเทศ แล้วมีการสืบสวนมาว่าเชื้อนั้นมาจากประเทศไทย ก็จะทำให้ประเทศเราตกเป็นผู้ต้องหา และต้องรับผิดชอบต่อการเกิดโรคระบาดครั้งใหม่ ซึ่งการสอบสวนในวันนี้ ตนจะเอาหลักฐานทั้งหมดให้กรรมการรับทราบ และพิจารณาว่าต้องยุติความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ เหล่านี้โดยเด็ดขาด ซึ่งขณะนี้มีการฝังตัวอยู่ในหน่วยงานของคณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ และหน่วยงานของสภากาชาดไทย ที่มีส่วนในการตัดต่อพันธุกรรมทำให้เกิดโควิด-19 ขึ้น

เมื่อถามว่ามีกี่หน่วยงานที่ยังมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาไวรัสในประเทศไทย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้อาจจะต้องถามทางคณบดี คณะแพทยศาสตร์ และ ผอ.รพ.จุฬาฯ ที่มีการเซ็นสัญญากับต่างประเทศไว้ ซึ่งทุนการศึกษานี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขด้วย แม้ว่าไม่มีการประกาศว่า จะมีการตัดต่อพันธุกรรม แต่มีประเด็นซ่อนเร้นอยู่หรือไม่  เราขอเรียกร้องให้ยุติโดยเด็ดขาด

“ตัวผมเองอาจจะถูกตัดสินให้ออกจากปฏิบัติการในคณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ แต่เรื่องนี้ไม่ได้สำคัญเท่ากับประชาชนทุกคนต้องรับทราบความจริง และต้องติดตามต่อให้ยุติโดยด่วน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่ามีรายงานข่าวว่าจะมีการยุบศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เป็นเพียงการคาดการณ์จากผลของการสอบสวนวันนี้ ก็อาจจะนำไปสู่การยุบศูนย์ฯ เพื่อนำศูนย์ฯ ไปเป็นฐานปฏิบัติการในการเก็บไวรัส และการส่งออกนอกประเทศโดยผ่านหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานทางการแพทย์ และหน่วยงานทางการศึกษา

ด้าน นพ.กุศล ประวิชไพบูลย์ แพทย์หู คอ จมูกและศัลยกรรม กล่าวว่า วันนี้ตนมาให้กำลังใจ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ และพร้อมรับฟังเหตุผลจากคณะกรรมการที่สอบสวนเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล เราก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากคุณหมอเองได้ดูแลสังคม เป็นนักวิชาการที่ทุ่มเท เป็นนักวิชาการที่ดี อย่างเช่นที่คุณหมอต่อสู้การใช้สารเคมียาฆ่าแมลงที่เป็นผลต่อสุขภาพมาก คุณหมอได้ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร ซึ่งเป็นผลดีของประเทศ ในการลดการใช้ยาโดยไม่จำเป็น.