เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียน เมื่อเดือนพ.ค.2566 ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) แจ้งข้อกล่าวหาผู้ร้องว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือพ้นจากการจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 วรรคหนึ่ง และสอบปากคำผู้ร้องโดยไม่แจ้งว่ามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 นอกจากนี้ ยังพบว่าสื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2 – 8) นำเสนอข่าวในลักษณะชี้นำว่าผู้ร้องกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยใช้สารไซยาไนด์ (Cyanide) ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่าผู้ร้องกระทำความผิด และสื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวของผู้ร้องออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โดยใช้ระยะเวลานานเกินสมควร อีกทั้งยังพบสื่อมวลชนบางสำนักคุกคามความเป็นส่วนตัวของผู้ร้องและครอบครัว จึงขอให้ตรวจสอบ
จากการตรวจสอบเห็นว่า ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้ 1. พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ไม่แจ้งต่อผู้ร้องว่ามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวน เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ร้องตามประมวลกฎหมายอาญา และได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาทราบ แต่จากการพิจารณาข้อความในรายงานประจำวันปรากฏเพียงว่า “ได้แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบซึ่งผู้ต้องหาทราบ และเข้าใจดีโดยตลอดแล้ว” โดยไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาเกี่ยวกับการมีทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด เป็นการสอบสวนโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายและไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาที่มีสิทธิได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ในชั้นนี้จึงเห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เห็นว่า การที่สถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2 – 8) นำเสนอข่าวคดีของผู้ร้องโดยเปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเกี่ยวกับญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ แม้เบลหน้าแต่ทำให้และพบว่าสื่อมวลชนได้บันทึกภาพผู้ร้องขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ทำให้ผู้ชมโดยทั่วไปสามารถทราบได้ว่าผู้ร้องเป็นใคร การกระทำลักษณะนี้ จึงเป็นการใช้เสรีภาพของสื่อที่กระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัวของบุคคลเกินสัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะซึ่งเป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนกรณีสื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง นำเสนอข่าวในลักษณะชี้นำ ตีตรา และด้อยค่าผู้ตกเป็นข่าวโดยใช้ภาพผู้ร้องเป็นภาพประกอบ บางรายการมีรูปแบบรายการข่าวเชิงสืบสวนโดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสัมภาษณ์ ผู้ดำเนินรายการใช้ถ้อยคำนำเสนอข่าวเชิงตัดสินและตีตราผู้ร้องว่าเป็นผู้กระทำผิด ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา มีการตั้งฉายาบุคคลที่ตกเป็นข่าวโดยใช้ชื่อบุคคลต่อด้วยสารไซยาไนด์ที่เกี่ยวข้องกับคดี เมื่อมีการนำเสนอข่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้สาธารณชนเชื่อว่าผู้ร้องกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่า มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ กรณีสื่อมวลชนคุกคามสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของครอบครัวผู้ร้อง เช่น ดักรอบริเวณเคหสถานของบิดามารดา เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ แสวงหาข้อมูลและเก็บบันทึกภาพโดยไม่ได้รับความยินยอม รวมทั้งติดต่อสัมภาษณ์บุคคลที่รู้จักผู้ร้องเพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผู้ร้องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนำข้อมูลไปเสนอต่อสาธารณชนอันเป็นการแทรกแซงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งอาจส่งผลให้บุคคลดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน อับอาย หรือได้รับความทุกข์ทรมานใจ ตามที่รัฐธรรมนูญ ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. 2562 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ การกระทำของสื่อมวลชนดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นกัน
ดังนั้น กสม. มีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กำชับพนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิในชั้นสอบสวนให้ผู้ต้องหาทราบด้วยวาจาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด และกำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และให้สื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด และให้สถานีโทรทัศน์จัดอบรมหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนให้กับสื่อมวลชนในสังกัด รวมทั้ง ให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกหนังสือเวียนเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว
ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กำหนดหลักเกณฑ์การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมหรือความรุนแรง มาตรฐานในการไม่เปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคลผู้ตกเป็นข่าว รวมทั้งศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาของการนำเสนอข่าวอาชญากรรมที่เหมาะสม และพิจารณาให้การเยียวยาแก่ผู้ร้องตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ด้วย.