ดังนั้นการลดขยะอาหารจึงเป็นวิธีที่เร็วที่สุด จากข้อมูลจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ระบุว่า กระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นนํ้าไปจนถึงจานอาหารของเรานั้นมีอาหารสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ที่ต้องกลายเป็นขยะอาหาร คิดเป็นนํ้าหนักมากถึง 1,300 ล้านตันต่อปี

ขณะที่ไทยมีประชากร 66 ล้านคน แต่ละคนสร้างขยะอาหารกันปีละ 145 กิโลกรัมเลยทีเดียว ดังนั้นเพื่อลดปริมาณขยะอาหารลงให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายยูเอ็น คนไทยจะต้องลดปริมาณขยะอาหารลงให้เหลืออย่างน้อย 70-72 กิโลกรัมต่อคนต่อปีฟู้ด แพนด้า จึงออกมาชวนให้คนไทยช่วยกันลดขยะอาหารลงให้ได้มากที่สุด ใน 3 วิธีง่าย ๆ และเริ่มได้ทันที

1. ซื้ออย่างไรไม่ให้เหลือทิ้ง

การวางแผนล่วงหน้าสำหรับอาหารแต่ละมื้อในอีก 2-3 วันข้างหน้า ลดโอกาสมีของเหลือทิ้งลงได้มาก ลองจดบันทึกเก็บสถิติอาหารที่ใช้และอาหารที่ต้องทิ้งในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาดูจะทำให้รู้ว่าการไปซูเปอร์ครั้งต่อไปจะต้องซื้อแค่ไหนถึงจะพอดี ไม่ต้องซื้อของเผื่อแบบทั้งอาทิตย์เพราะของสดส่วนใหญ่จะเสียภายใน 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่หากจะต้อง “ซื้อเผื่อ” ก็เลือกของที่มีอายุยืนยาว อย่าลืมทำความเข้าใจ “ฉลาก” ให้ดี เช่นวัน “Best Before” ที่ไม่ใช่วันหมดอายุแต่หมายความว่าผู้ผลิตมองว่าหากพ้นวันนั้นไปแล้วอาหารจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่ “ดีที่สุด” แต่ยังสามารถรับประทานได้อยู่ดังนั้นหากเก็บอาหารพ้นวัน Best Before ไปแล้ว 1-2 วันก็อย่าเพิ่งทิ้งเพราะยังสามารถนำมากินได้

2. คิดก่อนทำใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า

เรื่องนี้เริ่มต้นได้ตั้งแต่การเก็บวัตถุดิบที่เราจะต้องเก็บให้ถูกวิธี เช่น ผักหรือผลไม้บางอย่างจะมีอายุยืนยาวกว่าถ้าไม่เก็บในตู้เย็น เช่น หัวหอม กล้วย หรือมันเทศ การแช่แข็งเนื้อ หมู หรืออาหารทะเล ควรแยกแช่เป็นสัดส่วนแต่พอกิน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องละลายนํ้าแข็งในส่วนที่เกินมาและทำให้อายุการเก็บรักษาสั้นลง รวมทั้งการทำอาหารแต่พอกินให้อิ่มไม่เหลือทิ้ง และทำอาหารจากสิ่งที่เหลืออยู่ในตู้เย็นให้ได้มากที่สุด ผักผลไม้บางอย่างแม้จะดูไม่น่ากินแล้วยังสามารถนำไปใช้ทำอาหารหลาย ๆ อย่างได้ เช่นกล้วยที่สุกงอมจนเปลือกดำแล้วยังสามารถนำไปใช้ทำขนมหรือทำเค้กได้

3.กินให้หมด เหลือแช่แข็ง แบ่งบริจาค

หากมีอาหารเหลือเยอะอย่ากลัวที่จะใส่ช่องแช่แข็งเพื่อเอาไว้กินในมื้อต่อไป ซึ่งทุกอย่างไม่ได้เป็นอมตะเสมอไปเมื่ออยู่ในช่องแช่แข็ง ดังนั้นอย่าลืมแปะวันที่ที่เราแช่อาหารทุกอย่างเอาไว้เพื่อให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่กินอาหารที่ร้านอาหารนึกเสมอว่าหากกินไม่หมด อย่าลืมขอใส่กล่องกลับบ้าน หรือถ้าอาหารเหลือเยอะมาก ๆ โดยเฉพาะอาหารหรือของเบรกจากงานอีเวนต์ ทางเลือกในการบริจาคให้กับคนรายได้น้อยหรือขาดแคลนทุนทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน.