ส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับแรงหนุนสำคัญจากภาครัฐในด้านการผลักดันพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจนและโรงงานผลิตแผงโซล่าเซลล์แบบต่อเนื่องตั้งแต่ผลึกซิลิคอนไปจนถึงแผงโซล่าร์ ที่กำหนดแผนงานไว้อย่างชัดเจนเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจอินเดียที่ขณะนี้มีการขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้มีกำลังการผลิตติดตั้งในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดเป็นอันดับ5 ของโลกและมีกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานลมสูงสุดเป็นอันดับ4 ของโลกในปี 65

ทิศทางหลังจากนี้ทางรัฐบาลอินเดียคาดว่าจะมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก 41% เป็น 85% หรือจาก 170 กิกะวัตต์ ของกำลังการผลิตทั้งหมด 415 กิกะวัตต์ เป็น 1,125 กิกะวัตต์ ของกำลังการผลิตทั้งหมด 1,325 กิกะวัตต์ ภายในปี2590 และสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 22% เป็น 68% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 90

อย่างไรก็ตาม จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้พบว่า แนวโน้มการจัดหาพลังงานหมุนเวียนของอินเดียกำลังเปลี่ยนไปโดยต้องการโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆมากขึ้น เช่น การจ่ายพลังงานหมุนเวียนได้ตลอดเวลา มีระบบที่สามารถจ่ายพลังงานหมุนเวียนได้สูงสุดอย่างแน่นอนและปลอดภัย รวมทั้งการจ่ายพลังงานหมุนเวียนที่มั่นคงและยืดหยุ่น

จึงกลายเป็นโอกาสสำคัญของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. หลังจากที่ บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด ที่ จีพีเอสซี ถือหุ้น 100% ได้เข้าถือหุ้นกับ บริษัท อวาด้า เวนเจอร์ ไพรเวท จำกัด บริษัทในกลุ่มอวาดาซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดีย ในสัดส่วน 42.93% และยังได้ขยายขอบเขตดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมในกลุ่มระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่

เพราะนอกเหนือจากที่รัฐบาลอินเดียให้การสนับสนุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนแล้ว ปัจจุบันอินเดีย มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จากประชากรในประเทศที่มีมากถึง 250 ล้านคน มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในประเทศอินเดียจะเติบโตเร็วที่สุดในอนาคต โดยคาดว่าปี 66  จะเติบโต 6.1% และเพิ่มเป็น 6.8% ในปี2567 และมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดีย จะทำลายสถิติตัวเลข 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 69 และเพิ่มเป็น 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 73

 ขณะเดียวกัน จีดีพี ของอินเดีย คาดว่าจะอยู่ที่ 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนตลาด และรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลของอินเดียคาดว่าจะอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐภาย ภายในปี2590-2591 โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

จากปัจจุบันการบริโภคไฟฟ้าต่อหัวของอินเดียยังต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นหลังจากนี้ เนื่องจากการบริโภคต่อหัวของโลกสูงกว่าอินเดียถึง 2.7 เท่าตัว ขณะเดียวกันการบริโภคต่อหัวของสหรัฐสูงกว่าอินเดีย 9.7 เท่าตัว และของจีนสูงกว่าอินเดีย 4.7 เท่าตัว นั่นหมายความว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศอินเดียหลังจากนี้ยังมีอีกมาก โดยการจำหน่ายไฟฟ้าในอินเดียที่ให้บริการกับผู้บริโภค 250 ล้านคนนั้น จะมีระบบจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 73 แห่ง ซึ่งจำนวนผู้บริโภคจะแบ่งเป็น กลุ่มที่อยู่อาศัย 77% เชิงพาณิชย์ 11% เกษตรกรรม 10% และอุตสาหกรรม 2% จากบริษัทจำหน่ายไฟฟ้า 4 ประเภท คือ 1.บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าที่เป็นรัฐซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของเอง 100%, บริษัทที่ร่วมทุนกับรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นของภาคเอกชน 51% และภาครัฐ 49%, บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าเอกชนซึ่งภาคเอกชนเป็นเจ้าของ 100% และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนซึ่งเป็นแฟรนไชน์ของบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าที่เป็นของรัฐ

“รสยา เธียรวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ จีพีเอสซี จึงมองว่า การร่วมทุนกับอวาด้าในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญ ต่อการขยายสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของจีพีเอสซี ให้ได้ตามเป้าหมายมากกว่า 50% ในปี 73 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 3,629 เมกะวัตต์ หรือ 45% ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน ภายใต้สี่กลยุทธ์การเติบโตคือการสร้างความแข็งแกร่งพร้อมขยายการให้บริการในธุรกิจหลักที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต, การเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด, การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต และบริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภคให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ จีพีเอสซี ได้กำหนดทิศทางการเติบโตของธุรกิจ เพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทนวัตกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกในอาเซียน โดยวางแผนเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตมากกว่าครึ่งหนึ่ง จากพลังงานหมุนเวียน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 93 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2603.