สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ว่า การพึ่งพาไฟฟ้าพลังถ่านหิน ทำให้ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศ ที่ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่สุดของโลก เมื่อเทียบอัตราต่อหัวประชากร แต่รัฐบาลอนุรักษนิยมชุดปัจจุบัน ยืนยันสนับสนุนแนวทางของรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อย่างเต็มที่ มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเป้าหมาย ลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น จะทำให้ประชาชนตกงานจำนวนมาก
เซลวิน ฮาร์ท ที่ปรึกษาพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวในระหว่างการปาฐกถา ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ในกรุงแคนเบอร์รา เมื่อวันอาทิตย์ ว่า ยูเอ็นเข้าใจดี ถึงบทบาทของถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลีย แต่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ครองส่วนแบ่งเพียงแค่เล็กน้อย ประมาณ 2% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสนทนาในวงกว้าง อย่างตรงไปตรงมา และมีเหตุผลมากขึ้น เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่แท้จริงของออสเตรเลีย
ยูเอ็นเรียกร้องต่อกลุ่มประเทศสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development) ซึ่งรวมถึงออสเตรเลียด้วย ให้ลดการใช้ถ่านหิน แบบเป็นขั้นตอน จนเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573
เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีพลังงานและสิ่งแวดล้อม ชาติสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำของโลก จี20 ไม่สามารถบรรลุความตกลง เป้าหมายลดการใช้ถ่านหินแบบเป็นขั้นตอนภายในปี 2568 แต่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่า น่าจะมีความคืบหน้า ในระหว่างการประชุมปัญหาโลกร้อนของยูเอ็น ที่เมืองกลาสโกว์ ทางเหนือของสหราชอาณาจักร ในเดือน พ.ย.ที่จะถึง
มอร์ริสัน กล่าวว่า ออสเตรเลียกำลังอยู่บนเส้นทางไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ แต่อาจจะไม่ทันกรอบเวลาที่กำหนดไว้ รัฐบาลแคนเบอร์ราจะร่างเป้าหมายใหม่ เพื่อยื่นเสนอต่อที่ประชุมในเมืองกลาสโกว์
กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ส่วนใหญ่ตกลงในเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593.
เครดิตภาพ – REUTERS, Geoscience Australia
เครดิตคลิป – Al Jazeera English