โจทย์ยากในวันนี้ คือความซับซ้อน กว้างขวาง และต้องใช้เวลา ไม่มีรัฐบาลไหน หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน หรือผู้นำคนใดคนหนึ่งทำเองได้ทั้งหมดทันที

คำถามคือ ทำไมควรให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จะมีส่วนร่วมกันได้อย่างไร และใครกำลังทำอะไรเพื่อเอื้อให้เกิดอีโคซิสเต็มที่แข็งแรงสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนนี้อยู่บ้าง เชื่อว่าต้องให้ความสำคัญกับกรีนไฟแนนซิ่ง มองว่าภาคการเงิน การลงทุนสามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ พลังของผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย จะช่วยเร่งแรงสูบฉีดให้การเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งระบบ เกิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในประเทศไทย เรื่องกรีน หรือ sustainable financing มีการเติบโตต่อเนื่อง และวันนี้เห็นตัวอย่างที่ดีเป็นแนวทางเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภทหลัก ๆ คือ Green Bond, Social bond, Sustainability bond และ Sustainability-linked bond

ในปี 65 ตราสารหนี้สีเขียว หรือตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเกือบเท่าตัวจาก 28,706 ล้านบาท มาอยู่ที่ 41,219 ล้านบาท และมีการออกเพิ่มอีก 8,000 ล้านบาท เมื่อต้นปีนี้ เพื่อการลงทุนในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน

การออกตราสารหนี้เพื่อสังคม หรือ Social bond นอกจากภาครัฐจะเป็นผู้นำร่อง ภาคเอกชนก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เช่น มีบริษัทระดมทุนเพื่อไปสร้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่น หรือนำไปส่งเสริมการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง

นอกจากมีบริษัทไทยที่ออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainability bond แล้ว ยังมีบริษัทที่ออก Sustainability-linked bond หรือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน ที่นำผลสำเร็จของตัวชี้วัดทาง ESG ของบริษัทผู้ออกมากำหนดการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยด้วย สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนนี้ ของทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้ลงทุน.