เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ผ่านระบบ Zoom ว่า ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของเอกชนในข้อหาที่อ้างว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และคำขอที่ห้ามไม่ให้คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม. กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ถือว่าขณะนี้ประเด็นคดีความที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นเหตุให้ รฟม. สามารถดำเนินการในขั้นตอนการเปิดประกวดราคา (ประมูล) ต่อไปได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีคดีความที่เอกชนฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการ ม.36 ต่อศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยังอยู่ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง ศาลฯยังไม่ได้รับฟ้องคดีดังกล่าวแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีข้อหาที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ขอให้ รฟม.ชดเชยค่าเสียหายจากการยกเลิกประมูล 5 แสนบาท ซึ่งคดีที่เหลืออยู่เหล่านี้ไม่มีผลต่อการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่
นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการคัดเลือกเอกชนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คาดว่า รฟม. จะเสนอเอกสารหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Document : RFP) ให้คณะกรรมการ ม.36 พิจารณาภายในเดือน ก.ย.64 จากนั้นจะเปิดจำหน่ายเอกสาร RFP ในเดือน ต.ค.64 กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในเดือน ม.ค.65 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนฯ และลงนามในสัญญา ประมาณเดือน เม.ย.65 จากนั้นเอกชนจะเริ่มงานในส่วนของงานระบบรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. ได้ทันที
นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนงานโยธาส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กม. รฟม.ต้องทยอยส่งมอบพื้นที่เพื่อให้เอกชนเข้าสำรวจพื้นที่ เพราะงานส่วนนี้กำหนดไว้ในเงื่อนไขว่าให้เป็นการออกแบบ และก่อสร้าง (design-build) จึงเป็นหน้าที่ที่เอกชนต้องไปสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อออกแบบรายละเอียดก่อสร้างต่อไป อย่างไรก็ตาม กรอบเวลาการทำงานต่างๆ คงต้องปรับร่นระยะเวลาให้สั้นลง ซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่เอกชนสามารถดำเนินการได้ เพื่อเร่งรัดให้สามารถเปิดเดินรถได้ตามแผนที่วางไว้ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออกได้ต้นปี 68 และเปิดให้บริการส่วนตะวันตกได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 70
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ รฟม.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม.จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)