รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือน ส.ค. 64 พบว่าการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงเดือนก่อน แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดบางส่วน เช่น เปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสำหรับขายแบบดิลิเวอรี่ การเปิดแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และผ่อนคลายการเดินทางข้ามจังหวัดของแรงงาน แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงกดดันการฟื้นตัวในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคที่ไม่ใช่การผลิตมีถึง 68.4% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.5%
ด้านภาคการผลิตยังคงเจอกับการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน และการปิดโรงงานของคู่ค้าเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กระทบกับระดับการผลิตในภาพรวม ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์ผ่อนคลายจากเดือนก่อนเล็กน้อย โดยระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นบ้างตามแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในบางฟื้นที่ ส่วนภาคการค้ามีการจ้างแรงงานลดลง สำหรับรายได้เฉลี่ยของแรงงานปรับลดลงเล็กน้อย สอดคล้องกับการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน และให้ใช้วันลาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิตที่มีระดับการใช้นโยบายข้างต้นกลับมาใกล้เคียงกับช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศในเดือน เม.ย. 63
ขณะที่สภาพคล่องสำรองของภาคธุรกิจลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิต เช่น ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร และธุรกิจก่อสร้าง สะท้อนจากสัดส่วนของธุรกิจที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 3 เดือนเพิ่มขึ้นจาก 12.6% ในเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ 14.3% ในเดือน ส.ค. โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ของธุรกิจส่วนใหญ่ปรับลดลง เมื่อเทียบกับช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งแรกในเดือน เม.ย. 63 โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งหนึ่งมีความเชื่อมั่นลดลงมาก ตามด้วยภาคอสังหาฯ และภาคการค้า
ส่วนความเชื่อมั่นด้านรายได้ของภาคการผลิตดีกว่าภาคที่มิใช่การผลิต จากการส่งออกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ธุรกิจกว่าครึ่งเลือกที่จะปรับตัวโดยการลดต้นทุนและชะลอการลงทุน โดยมี 58.3% จะลดค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่ใช่ด้านแรงงาน, มี 51.7% ชะลอการลงทุน, 34.7% ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน, 26.9% หารายได้ช่องทางอื่น และ 5.8% เลือกที่จะปิดกิจการชั่วคราวหรือปิดบางสาขา
นอกจากนี้ ธปท.ยังเปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือน ส.ค. 64 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับดีขึ้นเล็กน้อยทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า หลังรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขของร้านอาหารให้สามารถใช้ครัวในการประกอบอาหารแบบดิลิเวอรี่ได้ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงเดือน เม.ย.63 ที่ประกาศล็อกดาวน์ครั้งแรก โดยผู้ประกอบการประเมินว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนบ้าง โดยการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมฯ ที่รุนแรงยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อและรายได้ภาคครัวเรือน