หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นความสำคัญของการดำเนินงานที่ต้องยึดหลัก “อีเอสจี” ซึ่งหมายถึงการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะการไม่ละเลยเรื่องธรรมาภิบาล และการคำนึงถึงความยั่งยืนเพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นวัคซีนสำคัญที่เสมือนเกราะกำบังและช่วยลดทอนผลกระทบจากแรงกระแทกที่ไม่คาดคิดในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายประเทศทั่วโลก กำลังออกแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งไปสู่การฟื้นฟูสีเขียว โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่วางแผนขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว
ปี 2021-2026

แน่นอนว่าแนวคิดเหล่านี้ได้นำไปสู่การลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนในมิติของความยั่งยืนหรือ “อีเอสจี” ที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในตลาดทุนที่ปัจจุบันการระดมทุนผ่านตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ประเภท “อีเอสจี บอนด์” มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อ
นำเงินไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดประโยชน์กับสังคม

สำหรับอีเอสจี บอนด์เป็นตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่แทบจะเหมือนกับตราสารหนี้ปกติทั่วไป แต่ต่างกันที่วัตถุประสงค์ของการระดมทุน ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย 1. กรีน บอนด์ หรือ ตราสารหนี้สีเขียว จะระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2. โซเชียล บอนด์ หรือ ตราสารหนี้เพื่อสังคม ที่มีการระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และ 3. ซัสเทน อะบิลิตี้ บอนด์ หรือ ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน จะระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืนที่มีทั้งองค์ประกอบสีเขียวและสังคม

โดยผู้ออกตราสารหนี้อีเอสจีส่วนใหญ่จะนำไปพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม อาทิ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ และ บมจ.ราช กรุ๊ป, การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่, บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ และ บมจ.เอสพีซีจี รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ อาทิ บมจ.บีซีพีจี

อีกวัตถุประสงค์ที่นิยมที่สุด คือ นำไปพัฒนาระบบขนส่งด้วยพลังงานสะอาดซึ่งก็คือระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่าง ๆ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองโดย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป, รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ-ใต้โดย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ, รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองโดย บมจ.ราช กรุ๊ป และรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน โดย บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ

มีการใช้เงินทุนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืนด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการปลูกป่าของ บมจ.ปตท. การทำประมงอย่างยั่งยืนของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป การบริหารจัดการขยะแบบครบวงจรของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศของ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส

ขณะเดียวกัน วัตถุประสงค์เพื่อชุมชนและสังคม ทั้งการจ้างงานและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกนำเงินไปใช้ฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากโควิด อาทิ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป นำเงินไปซื้อวัตถุดิบและจ้างงานเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยโดยการเคหะแห่งชาติ

นอกจากนี้ ผู้ออกตราสารหนี้บางรายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมที่ยั่งยืนด้วยการนำเงินไปให้สินเชื่อเช่น ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการสร้างพื้นที่ป่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บจ.โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ช่วยลดการปล่อยควันพิษ รวมทั้งธนาคารกสิกรไทย ที่ปล่อยสินเชื่อแก่โครงการเพื่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนครั้งแรกเมื่อปี 62 จนถึงไตรมาส 3 ปี 65 ที่ผ่านมาพบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 447,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากสิ้นปี 64 ที่มีมูลค่า 299,296 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ออกมีสัดส่วนถึง 63% และสัดส่วน 50% เป็นการออกเสนอขาย กรีนบอนด์ เพื่อรีไฟแนนซ์ในโครงการลงทุนรถไฟฟ้าและซัสเทน อะบิลิตี้ บอนด์ ในการสนับสนุนโครงการเยียวยาโควิดและโครงการลงทุนแหล่งนํ้า

สำหรับเรื่องนี้ทางศูนย์วิจัยกรุงไทยเคยประเมินไว้ว่ากระแสอีเอสจี มีโอกาสทำให้ประเทศไทยต้องลงทุนในเรื่องนี้อย่างน้อย 820,000 ล้านบาท ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในมุมของตราสารหนี้นั้นจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์องค์กรและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน เพราะเป็นการสื่อสารที่ชัดเจนว่าองค์กรใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืนอย่างจริงจัง.