จากรายงานของหนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ เหมืองแร่ทองคำโอกะวาว มีมูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,810 ล้านบาท) ดำเนินกิจการโดยบริษัทเรแนสซานซ์ มิเนอรัล (กัมพูชา) จำกัด (Renaissance Minerals (Cambodia) Ltd) บริษัทลูกของ Emerald Resources NL แห่งเมืองเพิร์ท ออสเตรเลีย ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพนมเปญ

ที่ผ่านมาแม้ว่ากัมพูชาจะมีเหมืองทองในประเทศ แต่ทั้งหมดเป็นเหมืองไม่เป็นทางการ และส่วนใหญ่ลงทุนโดยบริษัทต่างชาติ และไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า ปริมาณทองคำที่ขุดได้มีศักยภาพเชิงพาณิชย์มากน้อยแค่ไหน ทองคำที่ขุดได้ก็มักส่งออกไปหลอมเป็นทองคำแท่งในต่างประเทศ ทำให้กัมพูชาต้องนำเข้าทองคำเกือบทั้งหมดจากต่างแดน

ข้อมูลเมื่อเดือน ธ.ค. 2562 ของห้างทอง เอ เอ เยาวราช ในระยะ 5 ปีก่อนหน้านั้น การนำเข้าทองคำของกัมพูชา เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 กัมพูชานำเข้าทองคำรวม 2,952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้น 3.5 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยนำเข้าจากสิงคโปร์มากที่สุด ด้วยมูลค่า 2,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากไทย 842 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 28.50%

การนำเข้าทองคำของกัมพูชา ส่วนใหญ่เพื่อสะสมเป็นสินทรัพย์ ออมแทนเงินสด และการเก็งกำไร อีกส่วนนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับทองคำ และการนำเข้าทองคำจากทุกประเทศของกัมพูชา ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้การนำเข้าทองคำเติบโตสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง

อำเภอแก้วสีมา ที่ตั้งของเหมืองทองโอกะวาว อยู่ทางใต้สุดฟากตะวันตก ของจังหวัดมณฑลคีรี หรือ มวณฑวลกีรี ตามสำเนียงของชาวกัมพูชา จังหวัดนี้มีเนื้อที่มากที่สุดของประเทศ แต่ประชากรอาศัยอยู่เบาบางมาก ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2562 มีเพียงแค่ 92,213 คน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา โดยสัญลักษณ์ของจังหวัดคือ “กูปรี” หรือวัวป่า หนึ่งในสัตว์ป่าหายาก จังหวัดมณฑลคีรีเป็นแหล่งอุดมไปด้วยแร่ทองคำ และสินแร่ล้ำค่าอื่น ๆ อีกหลายชนิด

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเหมืองทองอย่างเป็นทางการ รัฐบาลกัมพูชา โดยกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน ได้เปิดให้มีการสำรวจสินแร่ และแร่ล้ำค่าในประเทศ มีบริษัทจากจีน เวียดนาม และออสเตรเลีย เข้าร่วมสำรวจในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ปี  2532 และบริษัทเอมเมอรัลด์ รีซอร์ซิส เอ็นแอล จากออสเตรเลีย ได้ประกาศการค้นพบทองคำ ที่โอกะวาวเป็นครั้งแรก ในเดือน ก.พ. 2556 ปริมาณทองคำสำรองราว 1.2 ล้านออนซ์ (ประมาณ 34,000 กิโลกรัม) เพิ่มขึ้นจากปริมาณคาดการณ์ 720,000 ออนซ์

นายสุย เสม รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา เผยว่า โรงงานแปรรูปเริ่มหลอมสินแร่เป็นทองคำแท่งทอง 90% และประทับตราโอกะวาวบนแท่งแรก เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.เหมืองและโรงงานแปรรูป ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล รวมถึงการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น มีศักยภาพแปรรูปสินแร่ทองคำ เกือบ 2 ล้านตันต่อปี

เหมืองทองโอกะวาว มีอายุสัมปทาน (Life of Mine) เบื้องต้น 8 ปี ตั้งเป้าผลิตทองคำ โดยเฉลี่ยปีละ 3 ตัน เหมืองแห่งนี้จะจ้างคนงานทั้งหมด 462 คน เป็นชาวกัมพูชา 427 คน และต่างชาติ 35 คน

โครงการเหมืองทองโอกะวาว จะถูกจับตาตรวจสอบอย่างใกล้ชิดโดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับประกันการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลกัมพูชาคาดว่า โครงการเหมืองทองโอกะวาวจะสร้างรายได้ก่อนหักภาษี ปีละ 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,873 ล้านบาท) โดยรายได้ 40 ล้านดอลลาร์ (1,270 ล้านบาท) จากค่าสัมปทานและภาษีอากร จะนำเข้าสู่งบประมาณแห่งชาติ.

—————                     

สังคมโลก : เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : The Phnom Penh Post