นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานเสวนา ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทยว่า จากวิกฤติโควิด-19 หลังจากนี้ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อมาตรฐานชีวอนามัยขั้นสูง สนใจความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องการความสะดวกที่ไม่น้อยกว่าเดิม

ด้านที่ 2.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะต้องสร้างความได้เปรียบให้แก่ธุรกิจที่สามารถนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยบริหารจัดการและสร้างประสบการณ์ด้านดิจิทัลให้กับลูกค้า ให้ได้รับความสะดวกในการจอง การจัดการเดินทาง และการชำระเงิน รวมถึงการจัดเตรียมบริการที่ปรับให้สอดคล้องกับความชอบของแต่ละบุคคล และ 3.ความยั่งยืน ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ที่ต้องหันมาทบทวนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ การสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การผสมผสานการท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรอง และสร้างบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆ ให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ธปท.คาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลา ซึ่งอาจต้องรอถึงไตรมาสแรก ปี 66 กว่าจะกลับมาสู่ก่อนระดับโควิด เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีการติดเชื้อจากคนสู่คนได้โดยง่าย แพร่ไปในวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว และมีการกลายพันธุ์ที่อันตรายมากขึ้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อ โดยจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชน งดการเดินทาง เว้นระยะห่างบุคคล และลดความแออัดการรวมตัวของคน

นายเมธี กล่าวว่า มาตรการภาครัฐเป็นมาตรการที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทย ทั้งที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวโดยตรง ทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ภัตตาคาร บริษัทนำเที่ยว สายการบิน เป็นต้น เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและยาวนาน จากการออกใช้มาตรการเพื่อยับยั้งการระบาดที่รุนแรงขึ้นหลายระลอก ในขณะที่การเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงเพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การออกนโยบายและมาตรการอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็น เพื่อประคับประคองธุรกิจต่างๆ ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้และอยู่รอดจนถึงวันที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเดินทางมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับภาครัฐและเอกชน นับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 63 ธปท. ได้เร่งออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง และภาระหนี้ในหลากหลายทางเลือก ตั้งแต่ให้สถาบันการเงิน พัก หรือ ชะลอการชำระหนี้ออกไป การปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ยังปรับการคำนวณอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ที่ออกมาล่าสุด และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อช่วยลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหา โดย ธปท.จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป และกระตุ้นให้สถาบันการเงินดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย และจะประเมินผลเพื่อวางแนวทางสำหรับมาตรการเพิ่มเติมต่อไป

“เชื่อว่าวิกฤติครั้งนี้ ย่อมที่จะทิ้งรอยแผลเป็นให้ธุรกิจไทย และศักยภาพภาคการท่องเที่ยวไทยไปอย่างยาวนาน คำว่าวัคซีนในที่นี้ หากไม่ได้หมายถึงการสร้างภูมิให้กับบุคลเพื่อรับมือกับโรคร้ายเพียงอย่างเดียว แต่วัคซีนยังหมายถึงการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจหลังโควิด และเตรียมพร้อมกับความผันผวนที่คาดไม่ถึงอีกด้วย การสร้างภูมิให้กับธุรกิจในโลกใหม่ข้างต้น จะต้องขับเคลื่อนด้วยกันผ่าน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน”