เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ facebook ภายหลังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ใจความระบุว่า เป็นการปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิ.ย. พ.ศ. 2565 เพื่อการควบคุม การใช้ช่อดอกกัญชาในทางที่ผิด โดยใจความสรุปว่า ขอบคุณที่พยายามควบคุม แต่ประกาศฉบับดังกล่าวยังมีช่องโหว่ ว่า สรุปแล้วจะคุมเฉพาะช่อดอกกัญชาเท่านั้น ในส่วนอื่นๆ ของกัญชาจะไม่ถูกควบคุมด้วยหรือไม่

วันเดียวกันนี้ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงการออกประกาศสมุนไพรควบคุม กัญชา ฉบับปรับปรุง ว่า ประกาศสมุนไพรควบคุมช่อดอกกัญชาฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงจากฉบับเดิมที่เราคุมเข้มกัญชาทั้งต้น ทำให้การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการแพทย์ สุขภาพและเศรษฐกิจทำได้ยาก ซึ่งมีการคาดไว้ว่า หากมี พ.ร.บ.กัญชาฯ ออกมาก็จะยกเลิกประกาศฉบับเดิม แต่เมื่อขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังไม่สมบูรณ์ เราต้องมีการควบคุมกัญชาพร้อมกับยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้น มีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านกัญชา เราจึงต้องปรับปรุงประกาศสมุนไพรควบคุมแบบการควบคุมเพียงช่อดอกกัญชา ส่วนอื่นที่ไม่ใช่ช่อดอก ก็ไม่ต้องขออนุญาตในการนำไปใช้ประโยชน์

นพ.ธงชัย กล่าวว่าทั้งนี้ เนื้อหาประกาศฉบับดังกล่าว ล้อมาจากร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เป็นหลัก โดยในประกาศสมุนไพรควบคุมจะกำหนดว่า หากจะนำไปศึกษา จำหน่ายหรือแปรรูปเพื่อการค้า จะต้องขออนุญาตก่อน อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับปรุงปรับจะไม่กระทบต่อประชาชนที่ขึ้นทะเบียนปลูกกัญชาในระบบ ‘ปลูกกัญ’ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่หากปลูกแล้วจะทำการค้า ต้องขออนุญาตกรมแพทย์แผนไทยฯ

ส่วน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในส่วนที่นอกเหนือจากประกาศของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ฉบับล่าสุด เช่น ใบกัญชานั้น ทางกรมอนามัยได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ในการควบคุมสถานประกอบการ ร้านอาหารที่มีการใช้กัญชาเป็นส่วนผสม จะต้องมีการแสดงรายการเมนูที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอย่างชัดเจน มีคำแนะนำในการบริโภคอย่างชัดเจนว่า ใครที่เป็นกลุ่มต้องห้ามรับประทานบ้าง เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีประวัติแพ้ ตลอดจนต้องมีคำแนะนำเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ เป็นต้น หากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวอย่างชัดเจน จะมีโทษตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข ซึ่งมีเจ้าพนักงานตามกฎหมาย คือ บุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ในการดำเนินการตรวจสอบเอาผิด

นอกจากนี้ กรมอนามัยยังได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับ ปริมาณส่วนผสมของกัญชาในเมนูอาหารเครื่องดื่มด้วยว่า แต่ละเมนูนั้นให้ผสมได้กี่ใบ ตลอดจนกรณีที่มีการวางขายใบกัญชาตามท้องถนน ดังที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ก็จะมีการเอาผิดทางร้าน ฐานไม่ถูกสุขลักษณะ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขเช่นกัน ดังนั้นถือว่า การควบคุมการใช้กัญชาครอบคลุมทั้งต้นอยู่แล้ว