สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ว่า นาซากล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวที่เรียกว่า “เครื่องกวาดภาพช่วงคลื่นละเอียดสูง” สามารถระบุ “จุดปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณมาก” ได้มากกว่า 50 จุดในภูมิภาคเอเชียกลาง, ตะวันออกกลาง และทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ นับตั้งแต่ที่มันถูกติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (เจพีแอล) ของนาซา ซึ่งเป็นสถานที่ที่อุปกรณ์ข้างต้นถูกออกแบบและสร้างขึ้นมา พบว่า ก๊าซมีเทนดูดซับแสงอินฟราเรดในรูปแบบเฉพาะที่เครื่องมือของการสำรวจฝุ่นแร่พื้นผิวโลก หรืออีมิต สามารถตรวจจับได้ง่าย

“กลุ่มก๊าซมีเทมบางส่วนที่อีมิตตรวจพบเป็นหนึ่งในกลุ่มก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นมา และมันไม่เหมือนกับสิ่งใดที่เคยพบเห็นจากอวกาศด้วย” นายแอนดรูว์ โธร์ป นักเทคนิคการวิจัยของเจพีแอล และเป็นผู้นำการศึกษาก๊าซมีเทน กล่าว

อนึ่ง ก๊าซมีเทนเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ของการสลายตัวของสารอินทรีย์ และส่วนประกอบหลักของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งแม้จะคิดเป็นสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ทั้งหมดเพียงเล็กน้อย แต่มันมีความสามารถในการดักจับความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 80 ปอนด์ต่อปอนด์

ตัวอย่างของจุดปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณมากที่ถูกบันทึกภาพใหม่ซึ่งแสดงโดยเจพีแอล ได้แก่ ก๊าซมีเทน 12 กลุ่มจากโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันและก๊าซในเติร์กเมนิสถาน โดยก๊าซบางกลุ่มทอดยาวมากกว่า 32 กิโลเมตร ขณะที่บ่อน้ำมันในรัฐนิวเม็กซิโก และอาคารแปรรูปของเสียในอิหร่าน เป็นจุดปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณมากที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้มาก่อน.

เครดิตภาพ : REUTERS