นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย และประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนขับรถแท็กซี่ เปิดเผยว่า หลังจากที่นำแท็กซี่ไปจอดตามสถานที่หน่วยงานราชการต่างๆ เช่น กระทรวงคมนาคม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กว่า 1,000 คัน เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และกดดันหน่วยงานของภาครัฐในการช่วยเหลือแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยได้ดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องไป 7 ข้อก่อนหน้านี้ เช่น ขอพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จัดหาที่จอดรถให้แท็กซี่ ให้คนขับรถแท็กซี่เข้าสู่มาตรา 40 กฎหมายแรงงาน เพื่อรับเงินเยียวยา และ จัดถุงยังชีพให้คนขับรถแท็กซี่นั้น 

ขณะนี้มีความคืบหน้าไปอย่างมาก หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้พยายามจัดหาที่จอดรถสำหรับแท็กซี่ เบื้องต้นแจ้งมาว่าจะจัดหาให้ 1,000 กว่าคัน จากที่ร้องขอพื้นที่ไป 5,000 คันที่กำลังจะเดือดร้อนและไม่มีที่จอดรถ สำหรับพื้นที่ 1,000 คันที่ทางภาครัฐจัดหาที่จอดให้นั้น เมื่อวันที่ 7-9 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้นำแท็กซี่ออกจากกระทรวงคมนาคม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประมาณ 250 คัน รวมทั้งนำรถออกจากกระทรวงการคลังไปจอดยังพื้นที่ที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้แล้ว เช่น พื้นที่สถานีกลางบางซื่อที่กระทรวงคมนาคมจัดไว้ให้จอดประมาณ 100 คัน รวมทั้งมีพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่เป็นพื้นที่ว่างยังไม่ได้ใช้งานอีกสามารถจอดได้ประมาณ 6 เดือน และ พื้นที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์คือโรงงานยาสูบด้วย  

นอกจากนี้หลังจากที่เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อขอให้คนขับรถแท็กซี่เข้าสู่มาตรา 40 กฎหมายแรงงาน เพื่อรับเงินเยียวยานั้น กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยังสนับสนุนมอบถุงยังชีพให้คนขับแท็กซี่ ประกอบด้วย ข้าวสาร น้ำดื่ม และอาหารแห้ง รวมกว่า 4,500 ชุด รวมมูลค่ามากกว่า 2 ล้านบาท เพื่อแจกจ่ายคนขับรถแท็กซี่ไปแล้วบางส่วน จากที่คนขับรถแท็กซี่ทั้งหมดที่มี 25,000 คน หลังจากนี้กระทรวงแรงงานจะจัดถุงยังชีพให้คนขับแท็กซี่ต่อไป เพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด เพราะอยากจะแก้ไขปัญหาแท็กซี่อย่างจริงจังต่อไป  

ขณะที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำลังดำเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์กั้นระหว่างที่นั่งผู้ขับรถกับคนโดยสารในรถแท็กซี่ เพื่อช่วยป้องกันการกระจายละอองฝอยจากการไอหรือจามซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด-19 และสร้างความมั่นใจในการใช้บริการรถแท็กซี่ โดยในระยะแรกคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ส.ค.64 สำหรับจัดทำฉากกั้นจำนวน 3,000 ชิ้น เพื่อติดในแท็กซี่กลุ่มตัวอย่าง จากนั้นจะมีการประเมินผล เพื่อพิจารณาขยายผลการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ทางกระทรวงการคลังกำลังหาทางออกเรื่องพักชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการแท็กซี่ เนื่องเรื่องนี้เกี่ยวกับบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ คาดว่าน่าจะใช้เวลาพอสมควรในการดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามที่หน่วยงานภาครัฐได้ช่วยเหลือเยียวยาในครั้งนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะอย่างน้อยได้เห็นว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งผู้ประกอบการแท็กซี่ ภาครัฐตื่นตัวและพยายามแก้ไขปัญหาให้แท็กซี่ในเบื้องต้น ส่วนการแก้ไขระยะยาวคงต้องใช้เวลา เพราะปัญหาแท็กซี่ถูกสั่งสมมานานหลายเรื่อง  

ส่วนสถานการณ์ให้บริการแท็กซี่ในขณะนี้นั้น เดิมมีแท็กซี่ที่ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในระบบ 83,000 คัน แต่ปัจจุบันยังคงให้บริการประมาณ 20,000 กว่าคัน ส่วนอีก 60,000 กว่าคันจอดมานานแล้ว จากผลกระทบโควิดรอบแรก จนถึงรอบปัจจุบัน สำหรับแท็กซี่ที่ให้บริการอยู่มีรายได้ 300 บาทต่อวัน เพราะไม่มีผู้โดยสารใช้บริการ ดังนั้นเพื่อเพิ่มรายได้ และช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19

แท็กซี่พร้อมสนับสนุนนำรถไปรับส่งผู้ป่วยโควิดมารักษาตามโรงพยาบาล หรือ รพ.สนาม หรือกลับภูมิลำเนา หรือรับส่งยาให้ผู้ป่วยโควิด จากโรงพยาบาลมายังบ้านผู้ป่วยที่รอการรักษา ซึ่งหากภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางในแต่ละครั้งในการทำภาคกิจรับส่งผู้ป่วยโควิด โดยคิดค่าเดินทางตามระยะทางที่ ขบ. กำหนด ซึ่งการดำเนินการทั้งรถและพนักงานขับรถจะอยู่ภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด