นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงแนวทางปฏิบัติพิธีศุลกากรกับพัสดุที่มีการส่งจากต่างประเทศว่า ยืนยันว่าที่ผ่านมากรมฯ ดำเนินการอย่าวถูกต้อง โดยมีการสแกนพัสดุทุกชิ้นที่ส่งเข้าไทย หากพบเป็นสินค้าเข้าข่ายน่าสงสัยจะตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย ซึ่งปีที่ผ่านมามีพัสดุที่ส่งจากทั่วโลกเข้าไทยถึง 43 ล้านชิ้น แบ่งเป็นพัสดุที่ส่งจากไปรษณีย์ต่างประเทศ 5 ล้านชิ้น จากบริษัทขนส่งเอกชนอีก 38 ล้านชิ้น และสามารถจับกุมตรวจยึดสิ่งของที่ผิดกฎหมายได้มากกว่า 976 รายการ มูลค่ากว่า 412 ล้านบาท เช่น ยาเสพติด วัตถุลามก บุหรี่ไฟฟ้า 

นอกจากนี้ยังพบมีพัสดุที่ส่งเข้ามาแล้วสำแดงเท็จเพื่อเลี่ยงภาษี เช่น แจ้งราคาที่ต่ำกว่าความจริง ปริมาณไม่ถูกต้อง หรือแจ้งชนิดสินค้าที่ไม่ตรง มากกว่า 3 แสนชิ้น ซึ่งสินค้าที่พบอันดับต้นๆ จะเป็นของที่ระลึก ของสะสมเกี่ยวกับดารา ศิลปิน นักร้องต่างชาติ และจากเกาหลี เช่น สมุดภาพ อัลบั้ม รองลงมาเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้าแบรนด์เนม เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการปิดประเทศหลังการระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ร้านค้าไม่สามารถเดินทางไปหิ้วของมาขายเองได้ จึงต้องมีการสั่งนำเข้าทางไปรษณีย์แทน  

“วิธีการตรวจสอบของกรมฯ จะแยกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ราคาสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาท กลุ่มนี้ได้ยกเว้นภาษีและจะให้ไปรษณีย์ไปจัดส่งให้เลย กลุ่มที่ 2 ราคา 1,500-40,000 บาท เป็นกลุ่มที่ต้องสุ่มตรวจและพบการเลี่ยงภาษี และกลุ่ม 3  ราคาเกิน 40,000 บาท กลุ่มนี้จะต้องมาเสียภาษีแน่นอน ส่วนวิธีเลือกจะดูจากขนาด น้ำหนัก และราคาที่แจ้ง หากไม่สมเหตุผลก็จะเปิดตรวจ เช่น สินค้ากล่องใหญ่แต่สำแดงราคาแค่ 27 บาท เมื่อตรวจแล้วกลับพบเป็นของที่มีมูลค่ามากกว่านั้นก็จะเรียกให้มาเสียภาษีให้ถูกต้อง รวมถึงกรณีเป็นสินค้าที่มาจากต้นทางเดียวกัน หรือผู้สั่งซื้อมีประวัติสำแดงเท็จอยู่แล้วก็อาจเปิดตรวจ” 

ส่วนวิธีการประเมินภาษี จะนำรายการสินค้านั้นตรวจเช็กราคาจากเว็บไซต์ หรือดูจากราคาด้านหน้าสินค้า แล้วมาคำนวณอากรขาเข้าบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อแจ้งให้มาเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่หากพ้นกำหนด 30 วันและไม่มาเสียภาษีก็จะส่งสินค้ากลับคืนต้นทาง หรือหากใครรู้สึกไม่ได้รับการประเมินภาษีอย่างธรรมก็สามารถอุทธรณ์ได้ โดยนำหลักฐานการชำระเงินมาแสดง 

นายพชร กล่าวว่า “ยืนยันว่าการตรวจและเก็บภาษีพัสดุจากต่างประเทศถือเป็นการหน้าที่ตามปกติ ไม่เกี่ยวกับการหารายได้เพิ่ม หรือรัฐบาลถังแตก เพราะภาษีจากส่วนนี้ปีหนึ่งเก็บได้เพิ่มแค่ 300 ล้านบาท แต่สาเหตุที่กรมฯต้องทำเพื่อดูความเป็นธรรม และตรวจจับของที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะยาเสพติดที่ลักลอบส่งเข้ามาทำไปรษณีย์มาก “

สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่า การตรวจสอบของศุลกากรทำให้ได้ของไม่ครบ ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ตรวจได้ยาก และมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้นทางส่งของมาไม่ครบ ซึ่งกรณีที่เป็นกระแสข่าวพบว่าสินค้าถูกส่งมาจากอเมริกา แต่มีการแวะพักประเทศทางอเมริกาใต้ ก่อนจะส่งมายังไทย โดยในเอกสารรายละเอียดแจ้งสินค้า 4 รายการ แต่เมื่อผู้รับเปิดกล่องพบสินค้ามี 4 รายการ แต่สินค้าไม่ตรงกับที่สั่ง อย่างไรก็ตาม กรมศุลฯ ก็พร้อมรับฟังความเห็นและปัญหาต่างๆ โดยจะเปิดช่องทางฮอตไลน์ให้แจ้งปัญหาตรงมายังอธิบดีแต่ต้องระบุชื่อตัวตนชัดเจน รวมถึงเพิ่มกล้องวงจรปิด และจัดทีมมาตรวจตราการทำงานเพิ่ม