เมื่อวันที่ 4 ส.ค. เวลา 13.00 น. ตัวกลุ่มเยาวชนปลดแอก นำโดย น.ส.จุทาทิพย์ ศิริขันธ์ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นายเอกชัย หงส์กังวาน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกรณีการชุมนุมทางการเมืองต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยระบุว่า นับตั้งแต่เตือน ก.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มผู้ร้องเรียนได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทำกิจกรรมรรมตัวกันมีข้อเรียกร้องหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย และข้อเรียกร้องอื่น ๆ ของแต่ละกลุ่ม โดยผู้ร่วมชุมนุมส่วนมากเป็นเด็กเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาประชาชน ไม่มีข้อเท็จจริง ปรากฏว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธ และหรือมีเหตุการณ์จลาจลหรือที่กระทบต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนเป็นส่วนรวม แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับใช้วิธีการคุกคามเสรีภาพของผู้ชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงขอให้ กสม. ดำเนินการ คือ 1. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการปิดกั้นห้ามมิให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล ตรวจสอบการใช้กำลังทางกายภาพ การฉีดน้ำการใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักการสากล รวมถึงขอให้เรียกบุคคลและพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาขี้แจงต่อ กสม.โดยเร็ว 2. กสม. ต้องแสดงบทบาทให้ชัดเจนถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสริภาพของประชาชน ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลซึ่งได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่มผู้ร้องเรียน และเพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และติดตามเหตุการณ์หรือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศอย่างต่อเนื่อง ขอเรียกร้องให้ กสม.ดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาเป็นกาลเฉพาะเพื่อติตตาม ตรวจสอบ และช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีหรือถูกคุกคามหรือได้รับผลกระทบจากการชุมนุม 3. ขอเรียกร้องให้ กสม.ทำหน้าที่ฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์หรือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ด้วยการลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มผู้เรียกร้องที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. นี้ด้วย
โดย น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการ กสม.กล่าวว่า กสม.มีภารกิจสำคัญที่จะต้องตระหนักในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการชุมนุมโดยสงบและสันติมาโดยตลอด และเห็นว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลต้องระมัดระวัง ควรใช้เป็นการเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีข้อยกเว้นการใช้กฎหมายตามวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง และการดำเนินคดีอาญา จึงสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิ ซึ่ง กสม.จะมีการตรวจสอบหลักนิติธรรมการออกกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบการชุมนุม การจับกุมผู้ชุมนุม
ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการ กสม. กล่าวเสริมว่า เรื่องการลงพื้นที่หรือติดตามสถานการณ์ กสม.มีการติดตามสถานการณ์ตลอดอยู่แล้ว มีเจ้าหน้าที่มอนิเตอร์ติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว หลายครั้งมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปดูเหตุการณ์ ส่วนวันเสาร์นี้จะมี กสม.ไปร่วมสังเกตการณ์หรือไม่นั้น กสม.จะหารือกันอีกทีหนึ่ง.