เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นพ.อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ Chief Performance Coach, Risk and Quality Officer บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และผอ.รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้ง รพ.สนามว่า รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในเครือบริษัทพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ร่วมมือกับทาง MQDC, นายเกชา ธีระโกเมน ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด , นายเอกศิษฐ์ เฉลิมรัฐวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายผลิตและฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์, มูลนิธิพุทธรักษา โดยมีเทศบาลตำบลบางแก้ว และจังหวัดสมุทรปราการ ให้การสนับสนุนตามข้อกำหนดทางภาครัฐในการจัดตั้งรพ.สนาม ในซอยวัดปลัดเปรียง ถนนบางนาตราด กม.5 ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

สำหรับโรงพยาบาลจะเป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ ติดระบบปรับอากาศ และระบบการระบายอากาศ ที่ปลอดภัยทั้งภายในโรงพยาบาล และภายนอก 6 เต็นท์ผู้ป่วย รวม 450 เตียง โดยจะรับผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลืองอ่อน และมีโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ รองรับสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเปลี่ยนเป็นหนักขึ้น โดยโรงพยาบาลได้ขยายห้องผู้ป่วย ICU เพิ่มเติม สำหรับผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยจากรพ.สนาม ซึ่งทางรพ. ได้สนับสนุนบุคลากรการแพทย์จากโรงพยาบาลในเครือ 11 สาขาร่วมมือด้วย โดยเราติดตามอาการของคนไข้ผ่านระบบ TeleHealth

การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม นอกจากจะเป็นการช่วยชุมชนสังคมในและนอกพื้นที่แล้ว ยังเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และทำให้การตรวจค้นหาเชิงรุกของโรงพยาบาลเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ในการแยกผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการน้อยออกมารักษาที่โรงพยาบาลสนาม หากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือทรุดลงจะดำเนินการรับตัวเข้ามารักษาในโรงพยาบาลทันที ซึ่งทางโรงพยาบาลได้มีการลงทุนขยายห้องผู้ป่วย ICU เพิ่มขึ้นอีก 60 ห้อง รวมเป็น 85 ห้อง

นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า การก่อสร้างลักษณะของอาคารเป็นโครงสร้างประกอบ เพื่อทำให้สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว ภายในจะมีการเพิ่มความปลอดภัยด้านสุขภาพ ทั้งของผู้ป่วย และบุคลากรสนับสนุนในโรงพยาบาลสนาม อาทิ ใช้สีแบ่งโซนการใช้งานอย่างชัดเจน เช่น โซนแดง คือโซนผู้ป่วย โซนเขียว โซนปลอดภัย สำหรับกลุ่มบุคลากร ในช่วงพักผ่อน ซึ่งการแบ่งพื้นที่ใช้สอยหลักเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวน 450 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยชาย 225 ผู้ป่วยหญิง 225 เน้นรับผู้ป่วยสีเขียวเป็นหลัก และได้แบ่งพื้นที่ ไว้รองรับสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลืองอ่อน จำนวน 20 เตียง พร้อมทั้งอุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้ป่วย รวมทั้งได้รับการสนับสนุนหุ่นยนต์ส่งของ “ปิ่นโต” 12 ตัว ทำหน้าที่รับส่งยา อาหาร เครื่องดื่ม ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้นำระบบการสื่อสารทางไกล ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย “ไข่ต้ม Hospital” ซึ่งเป็นระบบ telemedicine มาช่วยในการสื่อสารและติดตามอาการผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงของบุคคลากร ประหยัดการใช้อุปกรณ์ป้องกันและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยโรงพยาบาลสนาม จะเปิดรับผู้ป่วยในเดือนส.ค.นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงสร้างภายนอกเสร็จแล้วเหลือเพียงการดำเนินการภายใน และจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ