เพราะ “โควิดระบาด” “เศรษฐกิจปากท้องมีปัญหานัก” ยุคนี้จึงมีผู้คน “ต้องทิ้งเมือง” กันมาก และกรณีนี้ก็โยงเรื่อง “ผังเมือง” ด้วย โดยเรื่องผังเมืองนี่ก็มี “มุมน่าคิด” ที่นักวิชาการด้านผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สะท้อนไว้ ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อให้พิจารณากันในวันนี้… ทั้งนี้…การใช้ชีวิตของคนในเมืองล้วนเชื่อมโยงกับผังเมือง เพราะเมืองจะมีคุณภาพเช่นไร? ย่อมขึ้นกับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองนั้นด้วย …นี่ฉายภาพ “ความสัมพันธ์ระหว่างผังของเมืองกับชีวิตของคน” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากบทความ “ปัญหาเมืองป่วย” จากเว็บไซต์ มธ.

ปัญหาเมืองป่วยนี่ “ไม่เพียงเกี่ยวโยงเรื่องผังเมือง”

นี่ยังเป็นปัจจัยทำให้เกิดอีก “ปรากฏการณ์สังคม”

ปรากฏการณ์ “คนไทยรุ่นใหม่เลือกที่จะทิ้งเมือง!!”

รายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ได้ถูกสะท้อนไว้ในบทความดังกล่าว โดย รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ฉายภาพไว้ว่า… “คุณสมบัติผังเมืองที่ดี” จะต้อง “คำนึงถึงผู้อยู่อาศัย” เพราะสะท้อนถึงคุณภาพในการจัดวางผังเมือง เนื่องจาก ผังเมือง “มีความสำคัญและมีความเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิต” ในทุก ๆ มิติ อีกทั้งผังเมืองยังเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐในการเข้าไปพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ

สำหรับ “ความสำคัญของผังเมือง” ที่เกี่ยวข้องกับ “ชีวิตของคน” นั้น นักวิชาการท่านเดิมขยายความไว้ว่า… มี 3 หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.นโยบายสาธารณะ ที่เป็นการกำหนดตำแหน่งต่าง ๆ ของกิจกรรมคนในเมือง เช่น เป็น พื้นที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งงาน เป็นแหล่งการศึกษา เป็นแหล่งสถานพยาบาล ที่จะกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ 2.บริการสาธารณะ ที่กำหนดการเดินทางหรือบริการต่าง ๆ ของคนที่อาศัยในเมือง 3.การดำเนินการ ที่เป็นตัวกำหนดเกี่ยวกับเรื่อง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งสะท้อนว่า…

ผังเมืองเป็น “หนึ่งในฟันเฟืองค่าใช้จ่ายประชาชน”

นอกจากนี้ รศ.ดร.วิจิตรบุษบา ยังชี้ไว้ว่า… ถ้าพิจารณาจาก “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตคนกรุงเทพฯ” ส่วนตัวมองว่า… กรุงเทพฯ ไม่ควรจะโตไปมากกว่านี้ โดยค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ตอนนี้ก็มีแต่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงควรหยุดโต และหันไปเน้นกระจายความเจริญ กระจายแหล่งงานออกไป เพื่อลดความแออัดจะดีกว่า ซึ่งการมีแหล่งงานใกล้บ้านจะช่วยทำให้คนสามารถจ่ายไหวกับค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิต และยังช่วยลดปัญหาสุขภาพจิต เพราะคนเดินทางไปทำงานใกล้ขึ้น หรือใช้เวลาบนถนนน้อยลง อีกทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการจราจรติดขัดได้อีกทางด้วย

ในประเทศที่เน้นกระจายความเจริญ ชานเมืองจะไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่มีแหล่งงานที่เหมาะกับคนที่มาอยู่ชานเมืองอีกด้วย ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตคนดีตามไปด้วย เพราะลดปัญหาค่าใช้จ่ายกับลดต้นทุนการเดินทางไปได้เยอะ ซึ่งต่างกับไทยที่ชานเมืองเป็นแค่เพียงที่อยู่อาศัย ไม่ได้เป็นแหล่งงานด้วย …เป็นตัวอย่างที่ รศ.ดร.วิจิตรบุษบา หยิบยกขึ้นมาฉายภาพ เพื่อสะท้อนกรณี “ผังเมืองที่ดี” ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องที่อยู่แต่ “ต้องเป็นแหล่งงานด้วย”

นักวิชาการผังเมืองท่านเดิมชี้ไว้อีกว่า… อนาคตข้างหน้า เมืองใหญ่ ๆ อาจไม่ตอบรับกับความต้องการคนยุคใหม่อีกต่อไป ดังนั้นเมืองต้องเปลี่ยนทิศทางการลงทุน โดยต้องหันมาเน้นไปที่เรื่องของความต้องการจริง ๆ ของคนที่อยู่ในเมือง เพราะอนาคตแรงงานที่สำคัญในภาคธุรกิจจะอยู่ในเมืองมากกว่า 50% นั่นคือ กลุ่ม Gen Y และ กลุ่ม Gen Z ซึ่งคนเจนเนอเรชั่นเหล่านี้ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก โดยมีแนวโน้มจะ “เลือกเมืองที่จะใช้ชีวิตที่เป็นเมืองที่จ่ายไหว” มากกว่าจะใช้ชีวิตในเมืองที่แออัด …เป็น “เทรนด์อนาคต” การตัดสินใจเลือกเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่เป็น “โจทย์ใหญ่” ไม่เฉพาะแค่นักผังเมือง…

กับ “นักพัฒนา” กับ “หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ก็ด้วย!!

ทั้งนี้ รศ.ดร.วิจิตรบุษบา นักวิชาการ มธ. ได้สะท้อนถึง กรุงเทพฯ ไว้ในบทความ “ปัญหาเมืองป่วย” โดยระบุว่า… เป็น เมืองที่มีการกระจุกตัวของการพัฒนาสูงมาก เพราะมีแนวคิดที่ต้องการทำให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุน แต่ขณะเดียวกัน แม้จะดึงดูดการลงทุนได้ ทว่าก็ ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงตามมา ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้เห็นหากมีการ “จัดวางผังเมืองใหม่” ก็คือ… ผังเมืองใหม่ต้องไม่แทรกแซงกลไกตลาด ไม่ปล่อยให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น และ การจัดการที่ดินต้องเอื้อให้ชุมชนเดิมอยู่ได้ ด้วย ไม่เช่นนั้นเมืองจะไม่มีรากฐานวัฒนธรรม ไม่มีรากฐานชีวิตเดิม

…นี่เป็นสิ่งที่นักวิชาการท่านนี้คาดหวัง พร้อมมีการยกตัวอย่างไว้ถึง “ผังเมืองที่วางโครงสร้างดี” เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในเมือง เช่น… เกาหลีใต้ ที่ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ข้อมูลนำมาวางผังเมือง ทำให้ได้เมืองที่เหมาะกับผู้อยู่อาศัย หรือ ญี่ปุ่น ที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อมกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาหลอมรวมไว้ด้วยกัน ส่วนในไทยนั้น ที่เป็นตัวอย่างที่ดีคือ จ.อุดรธานี จังหวัดที่มีการผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะเยอะ และ จ.เชียงใหม่ ที่ภาครัฐร่วมมือกับภาคประชาสังคมพัฒนาพื้นที่จากแนวคิดความต้องการของคนในท้องถิ่น ทำให้ได้การตอบรับที่ดีจากชุมชน …นี่เป็นตัวอย่าง “เมืองที่มีผังเมืองที่ดี”

ยุคนี้ ต้องอยู่กับโควิดและสภาวะเศรษฐกิจซวนเซ”

ปัญหา เมืองป่วย”…ปัญหานี้ ยิ่งต้องใส่ใจรักษา”

ก็ หวังว่าในไทยเราจะรักษาได้ดีได้ทันการณ์!!”.