หลังจากตอนที่แล้วทีมข่าว “Special Report” ฉายภาพให้เห็นถึงการจัดซื้อด้วย “วิธีพิเศษ” ทั้งเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด (จีที 200-อัลฟ่า 6) หรือ “ไม้ล้างป่าช้าลวงโลก” และ “เรือเหาะ” ในยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. ซึ่งซื้อแพงมาก แต่ใช้งานไม่ได้ และไม่เหมาะสมกับภารกิจ

สำหรับตอนที่ 2 เป็นคิวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับภารกิจจัดหา “รถถัง-เรือดำน้ำ” ที่ทำให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต้องตาค้าง! เมื่อประเทศไทยเป็นลูกค้ารายแรกของรถถังออปพล็อต (OPLOT) จากประเทศยูเครน และไทยยังเป็นลูกค้ารายแรกที่สั่งซื้อเรือดำน้ำชั้นหยวน จากประเทศจีน เนื่องจากจีนยังไม่เคยต่อเรือดำน้ำขายให้ประเทศไหนเลย!

ช่วงปี 54 พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. ได้จัดหารถถังออปพล็อต 49 คัน มูลค่า 7,200 ล้านบาท จาก “ยูโครโบรอนพรอม” รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ของยูเครน เพื่อเข้าประจำการในกองพันทหารม้าที่ 2 พล.ร.2 รอ. จ.ปราจีนบุรี โดยมีกำหนดส่งมอบรถถังทั้งหมดภายในปี 58 แต่สุดท้ายกลับล่าช้าไปถึงเดือน มี.ค.61 กว่าผู้ผลิตจะส่งรถถังล็อตสุดท้ายให้ประเทศไทยจนครบ 49 คัน

ไทยลูกค้ารายแรก “รถถังยูเครน” ล่าช้า!

“รถถังออปพล็อต” กลายเป็น “มหากาพย์” ของสื่อมวลชนไทยและยูเครน ว่า

1.กองทัพไทยมีรถถังออปพล็อตมากกว่ากองทัพยูเครน

2.ข้อมูล “เคียฟ โพสต์” ระบุว่ากองทัพบกไทยเป็นลูกค้ารายแรกและรายใหญ่ที่สุดของรถถังยูเครน

3.รถถังออปพล็อตรุ่นดังกล่าวเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 51 เป็นรุ่นปรับปรุงจากรถถังออปพล็อตรุ่นเก่าซึ่งกองทัพยูเครนมีอยู่ 10 คัน และไม่เคยใช้งานในสนามรบ แม้รถถังรุ่นดังกล่าวจะผ่านการทดสอบโดยกองทัพยูเครน แต่สุดท้ายกองทัพไม่ได้สั่งซื้อรถถังเนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน

4.ยูโครโบรอนพรอม คุยฟุ้ง! ว่าการขายรถถังให้ไทย ช่วยให้ยูโครโบรอนพรอมมีเงินทุนสำหรับการผลิตรถถังต่อไป ซึ่งรวมถึงการผลิตรถถังให้กับกองทัพยูเครน

5.ส่งมอบล่าช้าเพราะไม่มีเครื่องยนต์ เนื่องจากประเทศเยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์ให้หรือเปล่า?

6.ยูโครโบรอนพรอมให้เหตุผลในการจัดส่งรถถังล่าช้าว่าเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจในยูเครน และสงครามทางตะวันออกของประเทศ ทำให้ขาดเงินทุนผลิตรถถัง

7.คำชี้แจงจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นการจัดซื้อรถถังยูเครน ส่วนมากมีการผลิตที่ยูเครน แต่เครื่องยนต์ผลิตในรัสเซีย เมื่อสองประเทศมีปัญหากัน เขาจึงทำเรื่องขอมาว่าจะปรับแก้เล็กน้อยได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลต่อรัฐบาล

8.ข้อมูลทั้งหมดสร้างความสงสัยให้กับคนไทยเป็นอย่างยิ่งว่า สุดท้ายแล้วรถถังที่ซื้อมาจากยูเครน ผลิตจากที่ไหนกันแน่? มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันว่าเป็นรถถังผลิตใหม่? หรือว่าเป็นรถถัง “เชียงกง” ที่ตัวรถ-ป้อมปืนและลำกล้องขนาด 125 มม.-เครื่องยนต์-อุปกรณ์ช่วยในการควบคุมการยิง ฯลฯ มาจากคนละทิศละทาง แล้วนำชิ้นส่วนอะไหล่เก่ามาประกอบขึ้นเป็นของใหม่ จึงต้องใช้เวลานานมากกว่าจะส่งมอบให้กองทัพบกไทยจนครบตามจำนวน

สำหรับความล่าช้าของรถถังยูเครน ไม่มีใครยืนยันว่ามีการ “ปรับค่าเสียหาย” หรือไม่? และจากความล่าช้าดังกล่าวทำให้กองทัพบกหันไปซื้อรถถัง VT-4 จากประเทศจีน อีกจำนวน 28 คัน ราคารวม 5.02 พันล้านบาท เพื่อนำเข้าประจำการในหน่วยทหารในพื้นที่ จ.น่าน และอุตรดิตถ์ ซึ่งการสั่งซื้อรถถังรุ่นนี้จากจีน ไทยก็เป็นลูกค้ารายแรกอีกเหมือนกัน

จีนเพิ่งต่อเรือดำน้ำขายไทยเจ้าแรก!

ถัดจากรถถังยูเครน มาถึง “มหากาพย์” เรือดำน้ำจากประเทศจีน เกิดขึ้นยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกฯ และรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 จากประเทศจีน


หลังจากวันที่ 18 เม.ย.60 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำชั้นหยวน เอส 26 ที จำนวน 1 ลำ จากประเทศจีน ในวงเงิน 13,500 ล้านบาท โดยมีกำหนดส่งมอบในปี 66 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นลักษณะงบผูกพันตามแผนที่จะจัดหาเรือดำน้ำทั้งหมด 3 ลำ รวม 36,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 11 ปี

โครงการจัดหาเรือดำน้ำลำแรกจากจีน ถูกหลายภาคส่วนตั้งคำถามมาโดยตลอดก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น

1.ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและฐานะการเงินการคลังของประเทศ

2.ควรรอให้รัฐบาลพลเรือนเป็นฝ่ายจัดซื้อจัดหาน่าจะมีทางเลือก และมีน้ำหนักในการเจรจาต่อรองมากกว่า

3.จีนไม่มีประสบการณ์ต่อเรือดำน้ำขายให้ใครเลย เพราะเรือดำน้ำที่จีนใช้อยู่ล้วนซื้อมาจากรัสเซียทั้งสิ้น ขนาดเรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งเป็นเรือผิวน้ำที่จีนสร้างเอง ยังต้องปล้ำกันมาพักใหญ่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นไทยจึงเป็นลูกค้าประเทศแรกของเรือดำน้ำจีน และราคาไม่ถือว่าถูก ถ้าเทียบกับเรือดำน้ำมือสองจากประเทศในยุโรปที่มีชื่อชั้นดีกว่า หรือว่าไม่มีใครขายเรือดำน้ำให้รัฐบาลทหารไทยในขณะนั้น?

4.ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ไม่มีใครใช้เรือดำน้ำจากจีนเลยแม้แต่ประเทศเดียว เช่น เวียดนามใช้เรือดำน้ำจากรัสเซีย ขณะที่สิงคโปร์ประจำการด้วยเรือดำน้ำจากเยอรมนี ส่วนอินโดนีเซียใช้บริการเรือดำน้ำจากเยอรมนีและเกาหลีใต้ ทางด้านมาเลเซียประจำการด้วยเรือดำน้ำจากฝรั่งเศส

5.ในช่วงที่มีการโฆษณาชี้ชวนว่าจะเอาเรือดำน้ำจากจีนกันให้ได้นั้น กองทัพเรือยกเหตุผลหนึ่งขึ้นมาอ้างว่าเรือดำน้ำจีนสามารถดำน้ำได้อึด! กว่าเรือดำน้ำจากประเทศอื่น โดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำนานถึง 21 วัน ขณะที่เรือดำน้ำประเทศอื่นดำน้ำ 3-5 วัน ต้องโผล่ท่อขึ้นมาหายใจและชาร์จแบตเตอรี่

เอา “เครื่องยนต์” อะไรมาใส่-ขาสั่น! แทนคนใช้งาน

แต่งานนี้แทบไปกันไม่เป็น! เมื่อมีข่าวออกมา 2 สัปดาห์ก่อน และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาย้ำเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เนื่องจากจีนไม่สามารถผลิตเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับติดตั้งในเรือดำน้ำได้ ซึ่งในสัญญาซื้อ-ขาย ได้กำหนดเป็นเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเคลื่อนกำเนิดไฟฟ้า รุ่น MTU 396 จากเยอรมนี จำนวน 3 เครื่อง แต่ปัจจุบันเยอรมนีไม่ออกใบอนุญาตการขายเครื่องยนต์ให้จีน แล้วจะเอาเครื่องยนต์จากไหนมาใส่เรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อ ซึ่งมีกำหนดส่งมอบกันในปี 66 ไหนจะเป็นเรื่องการสร้างอู่จอดเรือดำน้ำ มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติคนคุมงานก่อสร้างว่าเป็นแค่ครูสอนภาษา

ต่อมาวันที่ 28 ก.พ.65 พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ออกมาชี้แจงว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จีนต้องแก้ปัญหา เนื่องจากกองทัพเรือได้ยืนยันความต้องการเครื่องยนต์ดีเซล รุ่น MTU 396 จากเยอรมนี ตามข้อตกลงไปแล้ว

เรือดำน้ำลำแรกของไทยที่สั่งต่อจากจีน จึงกลายเป็น “มหากาพย์” ต่อจากรถถังยูเครน ว่าจะเป็นเรือดำน้ำ “เชียงกง” หรือไม่? เมื่อไหร่จะสร้างเสร็จและส่งมอบ?

อ่านเพิ่มเติม : ส่อง!การจัดซื้ออาวุธยุค ‘3ป.’ แพงลิ่ว-ใช้งานไม่ได้-ไม่คุ้ม! (ตอนที่ 1)