เหตุการณ์สูญเสียจักษุแพทย์หญิงรายหนึ่งจาก “อุบัติภัยบนถนน” เมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นประเด็นสั่นสะเทือนสังคมไทยเกี่ยวกับกรณี “ความไม่ปลอดภัยทางถนน” อีกครั้ง ซึ่งชาวโซเชียลไทยก็เกาะติดตรวจสอบ “การไม่เคารพกฎจราจรบนถนนเมืองไทย” กันมาก โดยเหตุการณ์แบบนี้ “ไม่ควรปล่อยให้ซา ๆ ไปเมื่อเวลาผ่านเลยเหมือนเคสอื่น ๆ ในอดีต…

กับเรื่องนี้ “มีกฎหมาย-มีกฎจราจร…ก็ยังไม่พอ

เรื่องนี้ “ยังต้องมีจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนด้วย”

และ “รวมถึงประสิทธิภาพหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

อนึ่ง เรื่องของ “ถนนปลอดภัย” นั้น นอกจาก “ต้องมีกฎที่ครอบคลุม-เท่าทัน” ก็ยัง “ต้องเคารพสิทธิผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน” ด้วย…ซึ่งอีกหนึ่งแนวทางเพื่อทำให้เกิดขึ้นที่มีการพูดถึงเป็นระยะ ๆ ก็คือแนวคิดการ นำความรู้เรื่องนี้ไปบรรจุอยู่ใน “หลักสูตรการเรียนการสอน”  ในสถานศึกษา โดยเมื่อปี 2564 ก็เคยมีองค์กรต่าง ๆ เข้าไปยื่น “ข้อเรียกร้อง” เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการนำเรื่องนี้ไปอยู่ในการจัดการเรียนการสอนภายในสถานศึกษาต่าง ๆ เช่นกัน หลังจากพบว่า… “ช่วงวัยที่เสียชีวิตสูงสุดจากอุบัติเหตุทางถนน” ในปี  2563 นั้นเป็น เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ช่วงอายุระหว่าง 10-24 ปี

นี่เป็น “ที่มาทำให้เกิดข้อเรียกร้อง” เกี่ยวกับเรื่องนี้

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

เกี่ยวกับ “แนวคิด” การนำ “ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน” ไปบรรจุเป็น “วิชาเรียนในโรงเรียน” นั้น กรณีดังกล่าวนี้ก็มีตัวอย่างน่าสนใจในต่างประเทศเช่นกัน โดยมี “กรณีศึกษาประเทศฟินแลนด์ซึ่งข้อมูลเรื่องนี้ได้รับการบอกเล่าไว้ผ่านทางบทความที่ชื่อ “สอนตั้งแต่เกิด-มัธยมศึกษา…วิชาถนนปลอดภัยในห้องเรียนฟินแลนด์โดย ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ โดยมีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ www.eef.or.th ของ กสศ. ซึ่งนี่ก็น่าจะใช้เป็น “กรณีศึกษาสำหรับไทย” ได้

ทั้งนี้ กรณีศึกษาประเทศฟินแลนด์นี้ ครูจุ๊ย-กุลธิดา ให้ข้อมูลไว้ในบทความดังกล่าวว่า… ปัจจุบันฟินแลนด์มีอัตราการเสียชีวิตบนถนนต่อประชากร 100,000 คนต่อปีอยู่ที่แค่ 5 คนเท่านั้น!!! …อย่างไรก็ตาม สถิตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน โดยในอดีตฟินแลนด์ก็เป็นประเทศในยุโรปที่มีสถิติการเสียชีวิตบนถนนสูงเฉลี่ยถึงราว 1,200 คนต่อปี ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทำให้ฟินแลนด์ตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วยการจราจร และสภาด้านความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อทำงานแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมถึงนำเรื่อง “ความปลอดภัยการจราจรทางถนน” ไป “บรรจุอยู่ในงานด้านการศึกษาด้วย…

จนมี “วิชาถนนปลอดภัย ที่น่าศึกษา-น่าพิจารณา

สำหรับแนวทางที่ทางฟินแลนด์นำมาใช้ ในบทความข้างต้นให้ข้อมูลไว้ว่า… ฟินแลนด์ได้ “นำความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนไปบรรจุอยู่ในการศึกษาทุกช่วงวัย” ในฐานะ “วิชาถนนปลอดภัย” โดยแบ่งเป็นช่วงวัยต่าง ๆ ดังนี้…

เด็กแรกเกิด-เด็กอายุ 3 ปี สำหรับกลุ่มนี้ เน้นให้ความรู้กับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์-คุณแม่ลูกอ่อน โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้ความรู้คือศูนย์อนามัยมารดาของฟินแลนด์ ซึ่งทางศูนย์จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับ “การดูแลเด็กเมื่ออยู่ในยานพาหนะ” เช่น จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเด็กเล็กเป็นผู้โดยสารในรถที่เกิดอุบัติเหตุ, การขับขี่อย่างปลอดภัยเมื่อมีเด็กเล็กเป็นผู้โดยสารในรถ, วิธีใช้คาร์ซีทที่ถูกต้อง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขับรถเมื่อมีเด็กเป็นผู้โดยสาร เป็นต้น

เด็กอายุ 4-7 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มเดินทางไปโรงเรียน สำหรับกลุ่มนี้ก็จะ เน้นให้ความรู้กับพ่อแม่-ผู้ปกครอง ซึ่งทางรัฐบาลจะแจก “คู่มือแนะนำ  ให้แก่พ่อแม่-ผู้ปกครองทุกคน โดยในคู่มือจะมีความรู้เกี่ยวกับ “วิธีฝึกให้ลูกมีพฤติกรรมที่ปลอดภัยบนท้องถนน เช่น การปฏิบัติตัวเมื่ออยู่บนถนน, การฝึกให้เด็ก ๆ สังเกตสิ่งรอบตัวขณะที่เดินทาง, สอนให้เข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การจราจรรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยเมื่อต้องอยู่บนท้องถนน

เด็กชั้นประถมศึกษา กับกลุ่มนี้มีการกำหนดให้ “ความปลอดภัยบนถนน”  เป็นหัวข้อที่ โรงเรียนทุกแห่งจะต้องจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนทุกคน ตามช่วงวัยนี้ โดยที่… อายุ 7-8 ปี จะเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับ ความปลอดภัยจากสิ่งรอบตัว เช่น  วิธีใช้อุปกรณ์ความปลอดภัย ทั้งเวลาเดินเท้าและขณะกำลังใช้จักรยานบนถนน, อายุ 9-12 ปี  จะเน้นที่ ความปลอดภัยในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ กับ ทักษะการใช้ถนนร่วมกับผู้อื่นอย่างปลอดภัย

เด็กชั้นมัธยมศึกษา จะเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับ พฤติกรรมที่ปลอดภัยเมื่อต้องใช้ถนนร่วมกับผู้อื่น รวมถึงเน้นเรื่องของ “กฎเมาไม่ขับ” นอกจากนี้ ทางฟินแลนด์ยังได้ตั้ง “โครงการชอล์กสีแดง” ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนได้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ ความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึง ผลที่ตามมาจากการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย อีกด้วย

ทั้งนี้ นอกจากการเรียนการสอน ทาง ครูจุ๊ย-กุลธิดา ยังระบุไว้ด้วยว่า… “จุดเด่นที่ทำให้ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จก็คือ การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานต่าง ๆ จนส่งผลทำให้สามารถลดอัตราเสียชีวิตบนถนนที่เคยสูงลิ่วในอดีต ให้มีอัตราที่ต่ำมากในปัจจุบัน” …นี่ก็เป็นข้อมูลที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับ “ฟินแลนด์โมเดล” ที่มีบทความให้ข้อมูลไว้ …ซึ่งความสำเร็จของฟินแลนด์นี้ก็ “น่าศึกษาสำหรับไทย” ที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงลิ่วลำดับต้น ๆ ในอาเซียน…

อุบัติเหตุทางถนนสูงลิ่ว” นั้น “สามารถจะลดได้”

นอกจากกฎหมายเข้ม “จิตสำนึกที่ดี” นี่ “ก็เกี่ยว”

“รวมถึง…ประสิทธิภาพหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง!!”.