จากเหตุโศกสลดการเสียชีวิตของ หมอกระต่าย-พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา นอกจากจะทำให้สังคมไทยตื่นตัวแล้วหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างก็ออกมารณรงค์ทั้งการบังคับใช้กฎจราจรบนท้องถนน และการแก้ปัญหาผู้ที่ใช้ทางม้าลายมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผู้ขับขี่ และ การบังคับใช้กฎหมาย ที่ยังมีช่องว่าง และต้องเร่งหาแนวทางเพื่อสร้างมาตรการด้านความปลอดภัยให้กับผู้ที่ใช้ทางม้าลาย

นายประสิทธิ์ คำเกิด

จี้คุมการกระทำผิดควบเพิ่มโทษ

ทีมข่าว 1/4 Special Report สอบถามมุมมองด้านนี้กับ นายประสิทธิ์ คำเกิด รอง กก.ผจก. บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และผู้ดูแลศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC กล่าวว่า กรณีอุบัติเหตุของคุณหมอกระต่าย ถือเป็นเรื่องที่สะท้อนปัญหาการขับขี่รถบนท้องถนนประเทศไทยได้อย่างชัดเจน เพราะการข้ามถนนบนทางม้าลาย ในทุกประเทศทั่วโลกถือเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด สิ่งนี้จึงทำให้หน่วยงานรัฐได้เห็นถึงปัญหา เพราะการรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยตลอด 10 ปีที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการขาดระเบียบวินัยบนท้องถนน ยังคงฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน

โดยเฉพาะการขี่มอเตอร์ไซค์ที่มีความเร็วสูง ในพื้นที่ชุมชนเรามีกฎหมายจำกัดความเร็วอยู่ที่ 60–80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ยังขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง แม้มีป้ายจราจรบอกไว้ก่อนถึงพื้นที่ชุมชน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างแท้จริง เพราะตามเป้าหมายของ พ.ร.บ.จราจรทางบก มุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ แต่กรณีนี้ แม้แต่ป้ายทะเบียนรถก็ยังไม่ติด และไม่มี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จึงถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และยังเป็นองค์ประกอบที่ทำให้รถไม่มีความสมบูรณ์ เมื่อวิ่งอยู่บนท้องถนน ยิ่งผู้ขับขี่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ยิ่งต้องทำตัวเป็นแบบอย่างในการใช้รถบนท้องถนน

การขับรถมาในพื้นที่ชุมชน ผู้ก่อเหตุขับมาโดยไม่ชะลอความเร็ว จึงถือเป็นความร้ายแรงอย่างมาก เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ดังนั้นจึงอยากเสนอว่า ต่อไปหากมีการเกิดอุบัติเหตุในการชนคนที่ข้ามถนนบนทางม้าลาย จะต้องไม่แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำการโดยประมาท แต่ต้องเพิ่มโทษให้หนักขึ้นเนื่องด้วยการกระทำผิดอย่างร้ายแรง โดยต้องทำโทษสถานเดียว และต้องมีการชดเชยแก่ผู้เสียหาย หากมีการยอมรับผิดหรือยินยอมระหว่างกัน เมื่อส่งเรื่องไปที่ศาลหากมีการบรรเทาโทษจำคุก ที่มีการกำหนดไว้ 10 ปี ถ้ามีการสารภาพเป็นผลดีต่อการดำเนินคดีจะมีการลดโทษลง 2 ปี หรือหากไม่เคยก่อคดีแต่มีโทษจำคุกจะให้รอลงอาญา

ตามปกติกฎหมายบังคับใช้กับผู้ที่ขับขี่ด้วยความประมาท จนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในกระบวนการทางศาลและการสั่งฟ้องบุคคลที่กระทำความผิด ควรจะต้องระบุถึงเหตุในความประมาทของการขับขี่ด้วย ดังนั้นเมื่อศาลพิจารณาจนพบว่ามีความประมาทอย่างร้ายแรงจะต้องลงโทษสถานเดียว ไม่ควรมีการบรรเทาโทษหรือรอลงอาญา เพราะสุดท้ายในกระบวนการทำความผิดมักจะมีการพูดกันว่ากรณีเหล่านี้ทำผิดแล้วไม่ติดคุกทำให้คนไม่กลัว ดังนั้นควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังจะทำให้ผู้ขับขี่มีวินัยบนท้องถนนมากขึ้น

ยอดเสียชีวิตบาดเจ็บสูงทุกปี

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จริงแล้วประเทศไทยมี แผนแม่บทเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เพราะในแต่ละปีมีผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนน จนมีผู้เสียชีวิตประมาณหมื่นกว่าราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีเป็นล้านคนต่อปี เลยทำให้มีการพูดกันว่า มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนประมาณ 1–3 คนในทุกชั่วโมง และยังมีผู้ที่ประสบอุบัติเหตุที่ต้องสูญเสียอวัยวะและพิการจำนวนมาก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะขับเคลื่อนแผนแม่บทมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนยังไม่ได้ดีขึ้น เพราะถ้าวิเคราะห์จากสถิติอุบัติเหตุ จะเห็นถึง ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ คือ

1.สมรรถนะของรถที่ใช้งาน มีความสมบูรณ์เกินกว่าเหตุ เช่น รถมีความเร็วเกินกว่าที่คนขับจะควบคุมได้ หรือกรณีที่รถไม่มีความสมบูรณ์ จนทำให้มีความบกพร่องในการขับขี่  2.เกิดจากความประมาทของผู้ที่ขับขี่ และผู้ใช้ทางเท้าริมถนน ที่บางครั้งเกิดจากความประมาท 3.เกิดจากความชำรุดของถนน และพื้นที่ริมทาง เช่น ทางเท้าริมถนนไม่สามารถเดินได้ เพราะมีสิ่งกีดขวางหรือทางเท้าเกิดการชำรุด ทำให้ประชาชนต้องลงมาเดินบนถนน จนทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมา ขณะที่อีกปัจจัยเกิดจากปัญหาของสภาพแวดล้อม ตัวอย่างเช่น มีต้นไม้ขนาดใหญ่บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ หรือกรณีที่คนเดินข้ามทางม้าลายมองไม่เห็นรถที่กำลังขับมา เนื่องจากมีต้นไม้บดบัง นอกจากนี้สภาพดินฟ้าอากาศ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

แต่ในทุกปัจจัย สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญคือ ผู้ที่ขับขี่รถยนต์ แม้สถิติผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในปี 2563 จะลดลง แต่ก็เป็นปัจจัยมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้ที่ประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตส่วนใหญ่กว่า 80% เกิดจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ ส่วนที่เหลืออีก 20% เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์.

แนวทางแก้ไขต้องเป็นระบบชัดเจน

ขณะที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้รวบรวมความเห็นและข้อเสนอจากผู้บริโภค พร้อมแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ได้รับสิทธิพื้นฐานไว้ ดังนี้ 1.กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งประกาศลดความเร็วรถทุกประเภทในเขตเมือง ไม่เกิน 50 กม./ชม. และหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล หรือชุมชนให้เหลือไม่เกิน 30 กม./ชม. 2.สนับสนุนสินบนนำจับให้ประชาชนช่วยกำกับและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องถนนปลอดภัย โดยเฉพาะการหยุดรถก่อนถึงทางม้าลายในพื้นที่ทั่วประเทศ และการใช้รถยนต์ที่มีความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดอย่างชัดเจน ตลอดจนควรจัดให้มีระบบที่สะดวกและง่ายต่อการร้องเรียนหรือแจ้งปัญหา และจ่ายสินบนนำจับให้กับผู้แจ้งร้องเรียนอย่างรวดเร็ว

3.การจับปรับที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนนต้องใช้การลงโทษขั้นสูงสุดภายใต้กฎหมาย กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ทุกประเภท รวมถึงประกาศให้ประชาชนผู้ขับขี่ทราบอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ เนื่องจากในปัจจุบันหากมีการกระทำผิดหลายกระทง ผู้ต้องหามักจะถูกทำโทษสูงสุดเพียงกระทงเดียว ทำให้ไม่มีการแยกแยะผู้กระทำผิด ที่กระทำผิดเป็นประจำออกจากผู้ที่กระทำผิดประมาทเพียงครั้งเดียว ซึ่งทำให้ตำรวจไม่ตั้งกระทงความผิดให้ครบถ้วน 4.ควรมีการจัดการทางม้าลายหรือถนนที่ไม่ปลอดภัยทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนรายงานทางม้าลายหรือปัญหาถนนที่ไม่ปลอดภัยอย่างเป็นระบบ และมีระบบสนับสนุนการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยของถนนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

5.ปรับปรุงบทลงโทษผู้กระทำผิดกฎจราจรและการขนส่งที่ทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเพิ่มค่าปรับให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมและความเสียหายที่เกิดอย่างรุนแรง แต่กรณีที่ไม่มีเงินเสียค่าปรับควรปรับให้ไปทำงานรับใช้สังคมในสภาวะงานที่ได้เห็นสภาพผู้บาดเจ็บและตายให้รับทราบความสูญเสียจริง เช่น ทำความสะอาดห้องเก็บศพ ช่วยงานห้องรับศพของโรงพยาบาล.