ปกปิดกันไว้จน “โป๊ะแตก” เนื่องจากมีข้อมูลต่าง ๆ ทยอยโผล่ออกมาเรื่อย ๆ ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม และ อนุมัติงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever) หรือ “ASF” ไปหลายครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 เม.ย.62
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 63 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.64 ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 ก.ค.64 และครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 5 ในวันที่ 11 ม.ค.65 เมื่อครม.อนุมัติงบกลางฯ ปี 65 วงเงินอีก 574 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโรค ASF ในหมู รวม 5 ครั้งกว่า 1.5 พันล้านบาท แล้วเหตุใด? กรมปศุสัตว์เพิ่งถูกต้อนให้จนมุมรับสารภาพ เมื่อเรื่องของโรค ASF เพิ่งมาแดงโร่หลังเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา
โรค ASF ในหมูเข้ามาก่อนโควิด-19
เจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกร (หมู) รายใหญ่แห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการเลี้ยงหมูมากว่า 30 ปี เปิดเผยกับทีมข่าว 1/4 Special Report ว่าเชื้อโรค ASF น่าจะเข้ามาสู่ประเทศไทยก่อนไวรัสโควิด-19 ด้วยซ้ำไป คือในสังคมคนเลี้ยงหมูด้วยกันบอกว่าเชื้อตัวนี้เข้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 62 เนื่องจากมีฟาร์มหมูหลายแห่งในพื้นที่ จ.นครปฐม และราชบุรี มีหมูตายแบบยกเล้า แต่มีความพยายามที่จะปิดข่าว ไม่ให้สื่อมวลชนล่วงรู้
โดยหมูที่ตายเหล่านั้น รวมทั้งหมูที่ยังไม่ทันจะตาย แต่เริ่มมีอาการบ้าง เจ้าของฟาร์มจะรีบจับขายออกไปในราคาถูกๆ กก.ละ 20 บาท ตกตัวละประมาณ 1,000 บาท ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แล้วหมูเหล่านี้ก็ถูกชำแหละมาเป็นเนื้อหมูแช่แข็งซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นาน เพื่อส่งไปขายตามร้านปิ้งย่าง ร้านหมูกระทะ ดังนั้นหมูแช่แข็งจึงกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ถ้าไม่ทำให้สุกด้วยความร้อนตั้งแต่ 70 องศาฯขึ้นไป เชื้อโรค ASF ก็ยังไม่ตาย
จากข้อมูลทราบว่าเชื้อโรค ASF ในหมู เริ่มระบาดหนักจากประเทศใหญ่ ก่อนระบาดเข้ามายังประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็เข้ามาที่นครปฐมและราชบุรี ส่วนภาคเหนือจะเข้ามาตามชายแดน เริ่มพบที่เชียงราย เชียงใหม่ ลามลงมาลำปาง ตาก กำแพงเพชร และ
นครสวรรค์
เป่าให้เป็น “เพิร์ส” ไม่กระทบส่งออก
เมื่อปีที่แล้วมีหมูของเกษตรกรรายย่อย และฟาร์มของเอกชนในอำเภอรอบนอกของนครสวรรค์ ล้มตายบ้าง 2-3 ตัว ถ้าตายแบบไม่ทันตั้งตัวเจ้าของฟาร์มจะฝังกลบซาก แต่ถ้าเห็นหมูทำท่าจะตายก็รีบขายออกไปก่อนกก.ละ 20 บาท เพื่อเอาทุนคืนกลับมาบ้าง หลายฟาร์มตายหมดเล้า ต้องเลิกเลี้ยงกันมาเป็นปีแล้ว เพราะไม่มีทุน ไม่มีเงินไปจ่ายค่าอาหารหมูซึ่งแพงขึ้นมาก
“คือภาครัฐคงอยากปัดให้หมูตายเพราะโรคเพิร์ส (PRRS) มากกว่า เนื่องจากโรค PRRS เป็นโรคทั่วไปของหมู ที่มีวัคซีนป้องกัน และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อหมู เพราะทั่วโลกพอรับได้ แต่ถ้าบอกว่าเป็นโรค ASF นี่คือเรื่องใหญ่เลย เพราะจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็นอย่างมาก เอกชนรายใหญ่ที่ทำฟาร์มหมูแบบครบวงจรไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามเดือดร้อนแน่ ๆ ดังนั้นจึงต้องบอกว่าเป็นโรค PRRS ไว้ก่อน เพราะเบากว่าโรค ASF ที่มีผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว”
ปิดฟาร์มไม่ต่ำ 6 เดือน–ลามไป “หมูป่า”
เจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมูรายใหญ่ใน จ.นครสวรรค์ เล่าต่อว่าตอนนี้โรค ASF น่าจะมีการระบาดไปยังฟาร์ม “หมูป่า” ด้วย เนื่องจากหมูป่าเลี้ยงง่าย ชอบกินข้าวเปียก ๆ และเศษอาหารที่มีเชื้อ ASF แต่หมูป่าไม่ตายง่าย ๆ เหมือนหมูบ้าน ดังนั้นเชื้อโรคจึงอยู่ในตัวหมูป่าได้นาน นี่คือตัวอมโรคเลย
วันนี้ฟาร์มของเกษตรกรรายย่อย และฟาร์มของเอกชนต้องปิดตัวจำนวนมาก เพราะถ้าหมูในฟาร์มติดเชื้อโรค ASF ต้องปิดฟาร์มเพื่อ “สวอบ” เรื่อย ๆ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อจนกว่าจะหมดเชื้อ ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน บางฟาร์มอาจจะต้องใช้เวลา 7-8 เดือน ขณะที่โดยปกติการเลี้ยงหมูจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนครึ่ง จึงจะจับหมูขายได้ โดย 1 ปีจะเลี้ยงหมูได้ 2 รอบ แต่ถ้าต้องปิดฟาร์มไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จึงอยู่กันลำบากมาก จะเอาเงินจากที่ไหนมาส่งดอกเบี้ยธนาคาร ถ้าเจอสภาพนี้หลายฟาร์มจึงต้องปิดตัว เพราะตามวงจรแล้วต้องใช้เวลาในการแก้ไขไม่ต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากแม่พันธุ์และลูกหมูกำลังขาดแคลนมาก
ระวังเข้มงวดทั้ง “โรค” และ “โจร” ลักหมู
ส่วนฟาร์มที่ยังปกติ คือฟาร์มของ 3 ทุนใหญ่ระดับประเทศที่เราทราบกันดี ซึ่งทำเป็นรูปแบบของ“เกษตรพันธสัญญา” ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมากขึ้น ก่อนจะเข้าฟาร์มต้องอาบน้ำ สระผมทุกครั้ง คนนอกและสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ห้ามเข้าฟาร์มโดยเด็ดขาด ห้ามนำเนื้อหมูเข้าไปกินในบริเวณฟาร์ม รถยนต์ที่จะเข้าฟาร์ม ถ้าไม่ใช่รถขนอาหารหมู จะไม่ให้เข้าโดยเด็ดขาด ก่อนจับหมูจะมีการเจาะเลือดไปตรวจในห้องแล็บก่อนว่าปลอดจากเชื้อโรค เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงเวลาของการกอบโกย เนื่องจากหมูของเกษตรกรรายย่อยและฟาร์มของเอกชนตายเกือบหมด เหลือแต่หมูในฟาร์มของ 3 ทุนใหญ่เป็นหลัก
“ปัจจุบันราคาหมูเนื้อแดงในนครสวรรค์พุ่งขึ้นไปกก.ละ 280 บาท ถือว่าแพงมาก แพงกว่าเนื้อวัวแล้ว ตอนนี้คนทำฟาร์มไม่ได้เฝ้าระวังแต่โรคระบาดในหมูเท่านั้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังโจรผู้ร้ายด้วย เพราะเกรงว่าโจรจะเข้ามาลักหมูที่เพิ่งเลี้ยง คือหมูที่เลี้ยงได้ 20 วัน สามารถนำไปทำหมูหันได้ แต่ไม่แน่ใจว่าโจรลักหมูไปเลี้ยงเอง หรือนำไปขายเป็นหมูหันกันแน่ โดยช่วง 3-4 ปีที่แล้ว ยังไม่มีข่าวโรคระบาด แต่โจรลักหมูอายุ 20 วัน ระบาดหนักมากแถว ๆ ชัยนาท และนครสวรรค์ บางฟาร์มหมูหายคืนละ 40-50 ตัว จึงต้องเฝ้าระวังกันอย่างเข้มงวด ยิ่งช่วงนี้หมูแพงมาก เพราะใกล้ถึงตรุษจีนแล้ว” เจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมูกล่าว
หมูแพง! ทำยอดขายตกฮวบ!
ทางด้านพ่อค้าแผงหมูรายหนึ่งในตลาดหน้าค่ายจักรพงษ์ จ.ปราจีนบุรี กล่าวกับทีมข่าว 1/4Special Report ว่ายิ่งเนื้อหมูมีราคาแพง ยิ่งขายได้ยาก ขายได้น้อยกว่าปกติ เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ ยิ่งปัจจุบันไม่มีโครงการคนละครึ่ง ยอดขายจึงตกลงไปมาก ทั้งพ่อค้า-แม่ค้าแผงหมูในตลาด และพ่อค้ารถเร่ (รถพุ่มพวง) บ่นกันทั้งนั้นว่าขายไม่ดี และลูกค้าส่วนใหญ่หันไปกินไก่แทนหมู แต่ช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งเดือนราคาไก่สดได้ปรับขึ้นมาอีกกก.ละ 10 บาท เรียกว่าตอนนี้หมู ไก่ เป็ด และไข่ แพงขึ้นทั้งหมด รวมทั้งสินค้าแปรรูปจากเนื้อสัตว์เหล่านี้ก็ขึ้นราคากันหมด ไม่เว้นแม้แต่ “ซุปก้อน”ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขาดตลาด และมีราคาแพงขึ้นด้วย
ในอดีตช่วงเศรษฐกิจดีๆที่แผงเคยสั่งหมูชำแหละมาขายวันละ 20 ตัว แต่ช่วงหลังลดลงมาเหลือวันละ 10 ตัว และช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เนื้อหมูสามชั้นมีราคาแพงมาก ปรับจากราคากก. 150-160 บาท ขึ้นมาเป็น 220 บาท ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายหมูเหลือแค่วันละ 4 ตัวเท่านั้น ส่วนพ่อค้ารถเร่ที่มารับหมูจากแผงไปกก.ละ 220 บาท เขาก็ต้องไปขายให้ผู้บริโภคกก.ละ 240-250 บาท เป็นอย่างต่ำ คือพ่อค้าเร่ต้องเอากำไรกก.ละ 20-30 บาท ไม่เช่นนั้นเขาจะอยู่ไม่ได้ เนื่องจากราคาน้ำมันก็แพงขึ้น ทุกอย่างแพงไปหมด สำหรับแผงขายหมูย่อย ๆ ในตลาดสด ตลาดนัด ทราบว่าขายหมูกันไม่ค่อยได้ เนื่องจากลูกค้าหันไปซื้อเนื้อไก่ แม้ราคาจะปรับขึ้นมาอีกกก.ละ 10 บาทก็ตาม แต่ยังถูกกว่าเนื้อหมู
“ตอนนี้ราคาเนื้อหมูแพงใกล้เคียงกับเนื้อวัว มันเป็นไปได้อย่างไร เหลืออีกไม่กี่วันจะถึงเทศกาลตรุษจีน เชื่อว่าราคาหมูสามชั้นคงขยับเข้าไปถึงกก.ละ 300 บาทแน่ ๆ เนื่องจากฟาร์มของเอกชน และฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยเลิกเลี้ยงกันไปมาก เพราะไม่มีทุน แถมแม่พันธุ์ ลูกหมูหายาก และมีราคาแพง ราคาอาหารสัตว์ก็แพง หลายฟาร์มหมูตายยกเล้า คนตกงานกันจำนวนมาก” พ่อค้าแผงหมู กล่าว.