กลายเป็นเรื่องเผือกร้อนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงกำลังจะนับถอยหลังสิ้นปี 2564 หลังจากกำลังตำรวจ เข้าสลายการชุมนุมอย่างสงบของ ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อกลางดึกวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา จับกุมผู้ชุมนุม 37 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุก่อนทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัววันที่ 7 ธ.ค.

วัตถุประสงค์ใหญ่ที่มารวมตัวชุมนุม เพื่อคัดค้านจัดตั้ง โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ พร้อมเรียกร้องให้ ศึกษาทบทวนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ใหม่อีกครั้ง รวมถึงยังเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งดูแลโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ภาพตำรวจจู่โจมจับกุมชาวบ้าน เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมาหลาย ๆ ภาคส่วนทันควัน โดยเฉพาะ กลุ่มเครือข่ายประมงท้องถิ่นทั้งใน อ.จะนะ หรือประมงท้องถิ่นหลายจังหวัดในภาคใต้ พร้อมออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนม็อบจะนะรักษ์ถิ่น รวมไปถึงภาคีเครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นแนวร่วม #Saveจะนะ ก็ออกมาร่วมเคลื่อนไหว

เปิดที่มาเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม

ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสพูดคุยแหล่งข่าว ซึ่งเกาะติดอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา เกี่ยวกับ โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา หรือเรียกกันว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ให้ข้อมูลถึงที่มาโครงการฯดังกล่าวว่า เป็นโครงการที่นำเสนอโดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นับเป็นโครงการระดับเมกะโปรเจคท์ของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างก็ว่าได้ ก่อนหน้านี้มี โครงการเมืองต้นแบบที่ 1 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, เมืองต้นแบบที่ 2 อ.เบตง จ.ยะลา และ เมืองต้นแบบที่ 3 อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ให้เป็นเมืองต้นแบบในลักษณะพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะ เพื่อสร้างรายได้และการจ้างงานในท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน นำไปสู่การกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้มากขึ้น

เมืองต้นแบบทั้ง 3 แห่ง ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 ขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ไล่ตั้งแต่ เมืองต้นแบบที่ 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรครบวงจร ใน อ.หนองจิก มีการเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน อาทิ โรงงานแปรรูปมะพร้าว, โรงงานแปรรูปทุเรียน, โรงงานเฟอร์นิเจอร์-เครื่องหนัง โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเกษตรกรและแรงงานในพื้นที่ ทำให้ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด และประเทศมาเลเซีย ขณะที่ เมืองต้นแบบที่ 2 เน้นการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เนื่องจาก อ.เบตง เป็นเมืองชายแดนติดกับรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย สิ่งที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือการก่อสร้าง สนามบินเบตง ที่สร้างแล้วเสร็จ และรอการเปิดใช้อย่างเป็นทางการ รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง สกายวอล์กอัยเยอร์เวง ที่โด่งดัง มีนักท่องเที่ยวแห่กันมาชมทะเลหมอกเป็นจำนวนหลายแสนคนต่อปี สิ่งที่ติดตามมา คือคนในพื้นที่มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นคึกคัก เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว

ส่วน เมืองต้นแบบที่ 3 อ.สุไหงโก-ลก ถือเป็นศูนย์กลางการค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ ที่กำลังเดินหน้าพัฒนาปรับปรุง ยกระดับสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก และส่งเสริมการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า (คลังสินค้า) โครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อการค้าขายไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ และยังมีโครงการจัดตั้งเมืองการค้าปลอดภาษี ฯลฯ จึงนับได้ว่า โครงการเมืองต้นแบบ ของ ศอ.บต. เดินหน้าขับเคลื่อนไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2559 เห็นชอบโครงการภายใต้เมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง

ขยายเมืองต้นแบบมาพื้นที่ “อ.จะนะ”

แหล่งข่าวในพื้นที่ กล่าวต่อว่า ภายหลังจาก ศอ.บต. ได้ขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ 3 แห่ง ใน 3 พื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เดินหน้าประสบผลสำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่ง จึงมีการนำเสนอข้อมูลการขยายผลโครงการฯ ไปสู่ เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ โครงการอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตนวัตกรรมสมัยใหม่เน้นอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.นาทับ ตลิ่งชัน และ สะกอม รวม 31 หมู่บ้าน โดยระบุจะดำเนินการภายใต้อุตสาหกรรม 5 ประเภท คือ 1.อุตสาหกรรมการเกษตร 2.อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ 3.อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล 4.อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และ 5.อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษในพื้นที่ ซึ่ง ศอ.บต.จึงเดินหน้าพยายามสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ 3 ตำบล มาตั้งแต่ปี 2562

หลังจากนั้นเดือน เม.ย.-ก.ค. 63 จึงได้กำหนดการเปิดพื้นที่เพื่อ รับฟังความเห็นจากประชาชนใน 3 ตำบล ดำเนินการเป็นไปตามระเบียบการรับฟังความคิดเห็น พ.ศ. 2548 สำนักนายกรัฐมนตรี มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นใน 2 เวทีกว่า 7,000 คน และยังเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์, แบบกลุ่ม, การสัมภาษณ์บุคคลและทางจดหมายอีกด้วย โดย ศอ.บต. ได้สรุปผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นเสนอ ครม.ไปตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 63 อย่างไรก็ดีมี กลุ่มคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ได้หยิบยกผลกระทบด้านมลพิษที่เคยเกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเปรียบเทียบ ถ้ามีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งอยู่ใกล้ทะเลจะส่งผลเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอาชีพประมงพื้นบ้าน อาจหาจับปลาได้น้อยลงส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านท้องถิ่น จึงสร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้าน

กระทั่งชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย รวมตัวกันเป็น “กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น” เดินหน้าเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างสงบมาทุกรูปแบบ ไล่ตั้งแต่ทำหนังสือร้องไปทั้ง ผวจ.สงขลา, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), ตัวแทนสหประชาชาติ และนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตรวจสอบขบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ดำเนินการโดย ศอ.บต. ว่าเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม ไม่ถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ครอบคลุมละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยกลุ่มผู้ที่เห็นต่างไม่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น จนสร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่ จากนั้นส่งตัวแทนเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ใน อ.จะนะ ซึ่งขณะนั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการขยายโครงการฯดังกล่าว จากนั้นช่วงต้นเดือน ธ.ค. 64 จึงกลับมาทวงสัญญาจากรัฐบาลว่าข้อเรียกร้องแก้ปัญหาไปถึงไหนแล้ว จนกลายมาเป็นข่าวใหญ่เมื่อถูกตำรวจสลายการชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล

ช่วงค่ำวันที่ 14 ธ.ค. บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพระราม 5 ด้านหน้าลานวังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตัวแทนรัฐบาล นำเอกสารข้อสรุปเป็นลายลักษณ์อักษรที่ระบุมติคณะรัฐมนตรียอมรับข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มาบอกกลุ่มผู้ชุมนุมฯ ทำให้ชาวบ้านต่างดีใจ บางคนสวมกอดร้องไห้น้ำตารินที่ทางรัฐบาลรับฟังความเห็นชาวบ้าน จากนั้นทั้งหมดทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา ในช่วงเช้ามืดวันที่ 15 ธ.ค.              

นับเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมในปัญหาโครงการฯดังกล่าวเอาไว้ก่อนที่จะขยับยกระดับบานปลาย แต่ก็ยังต้องติดตามดูต่อว่าในอนาคตโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ บทสรุปจะเป็นเช่นไร!!

รับทราบข้อเรียกร้อง

การประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 14 ธ.ค. 64 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมติเรื่องที่ 24 คือ รับทราบข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เสนอ จึงมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ฯลฯ ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และให้ สศช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ฯลฯ รวมถึงผลการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้หน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรอผลการประเมิน (SEA) ให้เป็นที่ยุติก่อนการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการให้เป็นตามกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย.