ถือเป็นประเด็นใหญ่อีกเรื่องในช่วงปลายปี 2564 ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 310 ต่อ 9 ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาการเปิด สถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ รวมทั้งการเปิด กาสิโนถูกกฎหมาย
อีกทั้งยังจะเป็นการแก้ไขการแพร่ระบาดของตู้เกมพนันไฟฟ้า-การพนันออนไลน์อย่างครบวงจร โดยข้อเสนอจะถูกพิจารณาในชั้น กมธ. มี 60 คนมาจากคณะรัฐมนตรี 15 คน และพรรคการเมืองต่าง ๆ 45 คน ใช้เวลาแปรญัตติ 90 วัน
ถกเถียงกันมายาวนานกว่า 20 ปี
สัปดาห์ที่แล้ว ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายชัชวาลย์ คงอุดม หรือ “ชัช เตาปูน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท คราวนี้มาดูมุมของนักวิชาการที่ศึกษาและยังเคยทำวิจัยเรื่องบ่อนพนันชายแดนไทยให้กับทางศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ผศ.ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาเพื่อร่วมกันพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในประเด็นแนวคิดการทำการพนันให้ถูกกฎหมาย โดยเฉพาะ กาสิโน เนื่องจากมีการถกเถียงกันมายาวนานกว่า 10–20 ปี แต่ด้วยสถานการณ์ของประเทศตอนนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้หน่วยงานรัฐหันกลับมาสนใจอีกครั้ง
จากสถานการณ์โควิด–19 ที่แพร่ระบาด ทำให้รัฐต้องพยายามหาเงินเข้ามาในประเทศมากขึ้น ประกอบกับรายจ่ายต่าง ๆ ก็ทำให้ต้องหาเงินเพื่อเข้ามาเพิ่มรายได้ ซึ่งการมีกาสิโน จะเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันในมุมของฝ่ายนิติบัญญัติ ก็อาจมองว่า น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ’ธุรกิจสีเทา“ ที่ต้องทำให้ถูกกฎหมาย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับประเทศไทย
การตั้งคณะ กมธ. 60 ท่านขึ้นมาร่วมพิจารณาเรื่องนี้ ถือเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็ใช้กระบวนการในแบบเดียวกันเพื่อพิจารณา เพราะในทุกประเทศเริ่มแรกก็มักจะมีการถกเถียงของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การใช้กลไกของรัฐสภาในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้และมีหลายประเทศทำในรูปแบบเดียวกัน เพราะแต่ละปีมีเงินหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการพนัน ไม่ต่ำกว่า 2–3 แสนล้านต่อปีและธุรกิจกาสิโนทั่วโลก ก็ยังมีทิศทางเติบโต
จากการสำรวจกาสิโนที่มีการลงทะเบียนทั่วโลกพบว่า มี กาสิโนมากถึง 3,600 แห่ง โดยกาสิโนเหล่านี้อยู่ในประเทศที่ทำให้ถูกกฎหมาย มีครบทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย ฯลฯ แนวโน้มของกาสิโนทั่วโลก หลังปี 2010 พบว่า ภูมิภาคเอเชียเติบโตมากที่สุด สิ่งนี้ทำให้ในหลายประเทศมีการเปิดตัวกาสิโนในรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น สิ่งนี้เป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ซึ่งกาสิโนเป็นธุรกิจที่ตอบสนองในเรื่องการพักผ่อน จึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของภูมิภาคนี้
เม็ดเงินธุรกิจสีเทาสูงกว่า 2 แสนล้านต่อปี
ผศ.ดร.รัตพงษ์ มีมุมมองด้วยว่า ถ้ามองถึงบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจกาสิโน จะมีกลุ่มทุนอเมริกา โดยกลุ่มนี้ได้รับสัมปทานจากภาครัฐในประเทศ เช่น มาเก๊า, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมี กลุ่มทุนมาจากจีน, ฮ่องกง และออสเตรเลีย รวมถึงกลุ่มทุนมาเลเซีย ที่มีกาสิโนอยู่หลายที่ กระจายอยู่ทั่วประเทศ จะสังเกตเห็นว่า กลุ่มทุนใหญ่ ๆ เหล่านี้ ล้วนมีกาสิโนตั้งอยู่ตามแนวชายแดนประเทศไทยเกือบทั้งหมด ตัวอย่างเช่น กลุ่มทุนจากจีนและออสเตรเลีย ก็ไปตั้งกาสิโน ตามแนวริมชายแดนไทย ตรงข้ามแม่สอด จ.ตาก ตอนนี้เน้นกาสิโน ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น หรือกลุ่มทุนฮ่องกง และจีน ตั้งกาสิโน อยู่ตามริมชายแดนประเทศกัมพูชา ดังนั้นจะเห็นว่า ผู้ประกอบการกาสิโนในระดับโลก มีการขยายสถานที่กระจายตามพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามของไทย มีการประเมินรายได้จากการพนันไม่ถูกกฎหมายมากกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวคิดที่จะทำกาสิโนแบบถูกกฎหมายขึ้นในไทย
“ตอนนี้ทั้งนักวิชาการ และ ส.ส. ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันใน แนวทางสิงคโปร์โมเดล ตามแบบ มารีน่าเบย์ เพราะการที่บริษัทข้ามชาติซึ่งเป็นมืออาชีพมารับสัมปทานทำกาสิโน ระบบของเขาจะสามารถตรวจสอบได้ถึงความโปร่งใส และด้วยความที่เป็นมืออาชีพที่ทำกาสิโนมาแล้วทั่วโลก บริษัทเหล่านี้มีระบบในการตรวจสอบผู้ที่จะเข้ามาเล่นพนัน ตั้งแต่อายุต้องบรรลุนิติภาวะ หรือบางคนที่ติดแบล็กลิสต์ จะมีกระบวนการกีดกันไม่ให้เข้ามาเล่น หรือบางคนที่เข้าสู่ภาวะเสพติดการพนัน จะมีระบบป้องกันไม่ให้เข้ามาเล่น”
ที่สำคัญเมื่อเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีประสบการณ์ จะมีความพร้อมที่ให้รัฐบาลโดยหน่วยงานกลางเข้ามาตรวจสอบ เช่น สิงคโปร์ หน่วยงานรัฐของเขาจะมีการเข้ามาตรวจสอบผลกระทบต่าง ๆ อย่างละเอียด ดังนั้นบริษัทข้ามชาติที่รับสัมปทานจะต้องมีมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบได้
รัฐไม่ควรทำเองเสี่ยงประโยชน์ทับซ้อน
รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวต่อว่า ขณะที่ระบบจะป้องกันผลกระทบ และการปันผลให้กับหน่วยงานรัฐที่ให้สัมปทาน บริษัทข้ามชาติมืออาชีพ จะมีการทำสัญญาว่า จะต้องจ่ายให้กับหน่วยงานรัฐในประเทศนั้น ๆ เท่าไร รวมถึงมูลค่าการลงทุนในแต่ละระยะเวลา ที่สำคัญยังมีมาตรฐานในการคืนมูลค่าสู่สังคม สิ่งนี้เป็นกลไกที่มีความซับซ้อน จึงต้องใช้บริษัทข้ามชาติที่เป็นมืออาชีพ มีประสบการณ์เข้ามาในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างการกำหนดอายุคนที่จะเข้าไปในกาสิโนก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จะตั้งมาตรฐานอายุเอาไว้ เช่น กาสิโนที่สิงคโปร์จะอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 22 ปี ขึ้นไปเข้าไปเล่นได้ แต่ถ้าอายุต่ำกว่านั้นจะเข้าไปไม่ได้
สิ่งสำคัญของการทำกาสิโนทั่วโลก คือผู้ประกอบการต้องมีความชัดเจนว่า จะคืนอะไรสู่สังคมในประเทศนั้น ๆ โดยกระบวนการเหล่านี้ถ้ามีความชัดเจนและอธิบายสังคมได้อย่างตรงไปตรงมาจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งภาคประชาชนและสังคมในทุกภาคส่วนของประเทศ
เชื่อว่าหากจะคิดเปิดกาสิโนจริง ๆ รัฐบาลไทยไม่ควรจะทำเอง เพราะเสี่ยงจะมีปัญหาในมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อรัฐ โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือที่อาจส่งผลกระทบได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันก็อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าเราไม่ใช้บริษัทที่เป็นมืออาชีพ ต่อให้เรามีการตั้งบอร์ดในการบริหาร แต่สุดท้ายก็จะมีการแต่งตั้งคนของตัวเองไปนั่งในคณะกรรมการ.