การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.61 ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ และวันที่ 13 ธ.ค. 61 ณ จังหวัดหนองคาย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบในการพัฒน าจังหวัดอุดรธานี เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การคมนาคมและขนส่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Hub of Greater Mekong Subregion – GMS) ซึ่งประกอบด้วย ไทย ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ โดยวางกรอบการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี ดังต่อไปนี้
1) การขยายผิวจราจรทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพอุดรธานี – หนองคาย
2) การขยายผิวจราจรทางหลวงหมายเลข 216 ถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานีด้านทิศตะวันออก
3) การขยายผิวจราจรถนนสายแยกทางหลวง หมายเลข 2 – พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ (หลวงตามหาบัว) จากการจราจร 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทาง
4) เร่งรัดโครงการรถไฟรางคู่ ขอนแก่น – อุดรธานี และอุดรธานี – หนองคาย
5) การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของผู้โดยสาร และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3
6) สร้างศูนย์กลางการค้าและการขนส่งสินค้า (Logistic Park) ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และโครงการท่าเรือบก (Inland Container Depot)
7) พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้สอดรับกับการแข่งขันในเวทีสากล
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดอุดรธานี โดยเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดอุดรธานีและแผนเปิดเมือง “อุดร พลัส โมเดล (Udon Plus Model)” ที่ศูนย์การประชุมมลฑาทิพย์ ฮอลล์
พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า การเดินทางมาตรวจราชการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการ พัฒนาจังหวัดอุดรธานีเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต การกระจายความเจริญและการขยายของตัวเมือง ซี่งรัฐบาลได้เห็นถึงศักยภาพของจังหวัดอุดรธานี ในการเป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยได้อนุมัติงบประมาณปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนในทุกมิติ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อระบบกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน สนับสนุนการขยายศักยภาพสนามบินนานาชาติอุดรธานี ที่เป็นสนามบินภูมิภาค มียอดผู้ใช้บริการสูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้สามารถรองรับรับผู้โดยสารได้มากขึ้นเป็น 7 ล้านคนต่อปี ขยายถนนมิตรภาพอุดรฯ – หนองคาย จาก 4 ช่องทางเป็น 6 ช่องทางตลอดสาย (ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567) และก่อสร้างถนนสายใหม่ตัดตรงจาก อุดรธานี – บึงกาฬ ซึ่งปลายทางเป็นจุดเชื่อมต่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 (คาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างในปีหน้า)
นอกจากนี้รัฐบาลยังจะสนับสนุนการลงทุนระบบผลิตน้ำประปาให้เพียงพอกับการเติบโตของเมืองในอนาคต โดยสูบน้ำจากแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย ส่งกลับมาจังหวัดอุดรธานี จำนวนกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ให้รองรับความต้องการใช้น้ำของจังหวัดอุดรธานีได้ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ลงทุนระบบชลประทานน้ำเพื่อการเกษตรซึ่งปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 2 ของพื้นที่การเกษตร โดยสร้างระบบสูบน้ำกลับของโครงการห้วยหลวงที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง และสร้างฝายเป็นช่วงๆ ตลอดลำห้วยหลวง และเพิ่มพื้นที่ชลประทานทั้งของจังหวัดอุดรธานีที่เป็นต้นน้ำ และจังหวัดหนองคายที่เป็นปลายน้ำ ซึ่งจะมีพื้นที่อีกหลายแสนไร่สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี สนับสนุนการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟและเส้นทางถนนมิตรภาพเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เพื่อให้การขนส่งสินค้าสะดวก มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยกระดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งเป็นเมืองที่มีรูปแบบในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเป็นเมืองแห่งศูนย์การประชุม การจัดการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานหรือบุคคลที่ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายขององค์กร การประชุมนานาชาติรวมบุคคลในสายอาชีพเดียวกันหรือใกล้เคียงกันซึ่งเป็นการจัดงานขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ การจัดงานแสดงสินค้าเพื่อกลุ่มเป้าหมายแต่ละอุตสาหกรรมและธุรกิจ (Meeting, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions – MICE city) ตลอดจนกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยเทศกาลระดับนานาชาติ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต ผ่านการวิจัยและต่อยอดสู่โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Economy) สร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของจังหวัดอุดรธานีในการเป็นเจ้าภาพการจัดมหกรรมพืชสวนโลก พ.ศ. 2569 (ค.ศ.2026) ภายใต้แนวคิด “วิถีชีวิต สายนํ้า และพืชพรรณ (Harmony of Life)”
ภายในปี 2568 อุดรธานีจะมีเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่สะดวกอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งทางถนน ทางรถไฟ ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศ ซึ่งลดเวลาการขนส่งได้ถึงร้อยละ 30 ลดต้นทุนถูกกว่า 2 เท่า อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง
จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนทั้งในด้านการค้า การลงทุน การคมนาคมและขนส่ง ประการสำคัญเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากมีเขตติดต่อกับจังหวัดชายแดนลุ่มแม่น้ำโขงหลายจังหวัด ได้แก่ ห่างจากจังหวัดหนองคาย 50 กม. ซึ่งมีสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย – เวียงจันทน์) ห่างจากจังหวัดนครพนม 240 กม. ซึ่งมีสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) และห่างจากจังหวัดบึงกาฬ 181 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) อีกทั้งยังมีจังหวัดใกล้เคียงหลายจังหวัด ได้แก่ ห่างจากจังหวัดหนองบัวลำภู 46 กม. ห่างจากจังหวัดเลย 120 กม. ห่างจากจังหวัดขอนแก่น 120 กม. ห่างจากจังหวัดสกลนคร 160 กม. และห่างจากจังหวัดชัยภูมิ 240 กม.
จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มียุทธศาสตร์เศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งกับถนนสายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเป็นกลุ่มหลัก (Cluster) ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและเทคโนโลยี มีการนำหลัก อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial) มาใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นการรองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดอุดรธานีเพิ่มขึ้น และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับจังหวัด ตลอดจนรองรับการขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจากต่างประเทศอีกด้วย
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โอกาสดีสำหรับนักลงทุน
60ปีงานทุ่งศรีเมืองอุดรธานี ตระการตากับขบวนแห่
…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม