ถือเป็นความสำเร็จ และเป็นอีกหนึ่งโครงการตัวอย่างในการแก้ปัญหาที่ดินแปลงใหญ่จากการครอบครองของนายทุนซึ่งเป็น “นิติบุคคล” มาสู่การจัดสรรอย่างเป็นระบบให้เกษตรกรผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกิน ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นั่นคือการพัฒนาพื้นที่แปลงหมายเลข No83 “คทช.หงษ์เจริญ” ต.หงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร พื้นที่ 6,415 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล

จากสวนปาล์มเอกชนมาสู่หมู่บ้านใหม่

เจ้าหน้าที่ในสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จ.ชุมพร (ส.ป.ก.ชุมพร) เปิดเผยกับทีมข่าว “1/4 Special Report” ว่าเดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนปาล์มน้ำมันของบริษัทเอกชนที่ได้รับการสัมปทานจากกรมป่าไม้มาตั้งแต่ปี 2522 ต่อมาสัมปทานหมดอายุ แล้วมีการของต่อ “ใบอนุญาตแผ้วถาง” แบบปีต่อปี เรื่อยมาจนถึงปี 2552 แล้วมีการเปลี่ยนระเบียบ เปลี่ยนกฎหมายป่าไม้ มีการเลิกใช้ “ใบอนุญาตแผ้วถาง” และสภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรม ทางกรมป่าไม้จึงต้องโอนพื้นที่ดังกล่าวมาให้ ส.ป.ก. ตามมติของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

หลังจากได้พื้นที่มาแล้ว คทช.จังหวัด และ ส.ป.ก.ชุมพร จึงประกาศเปิดรับสมัครชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยมีเป้าหมายว่าพื้นที่แปลงนี้สามารถรองรับ 652 ครอบครัว ครอบครัวละ 5 ไร่ ส่วนพื้นที่เหลือต้องกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง-แหล่งน้ำ-ถนน และพื้นที่แนวกันชนชายป่าเขา แต่สุดท้ายมีชาวบ้านแจ้งความประสงค์ขอเข้าทำกินมากถึง 2,400 ครอบครัว

ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณากลั่นกรองอย่างเหมาะสม โดยมีการตรวจสอบภูมิลำเนา ตรวจสอบสิทธิการครอบครองที่ดินอื่น ๆ และสภาพความเป็นอยู่ (อาชีพ-ฐานะ) จนกระทั่งได้เฟสแรกเข้ามา 105 ครอบครัว และเฟสที่ 2 เมื่อเดือน ก.ค. 64 อีก 315 ครอบครัว ส่วนที่เหลืออีก 232 ครอบครัว จะพิจารณาเพื่อปิดโครงการให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2565

ตรงนี้ “คทช.หงษ์เจริญ” เหมือนเป็นหมู่บ้านใหม่ คนส่วนใหญ่ที่มาอยู่ที่นี่ แต่เดิมล้วนมีอาชีพรับจ้างทางการเกษตร แต่เมื่อมาอยู่ในพื้นที่โครงการสภาพความเป็นอยู่ต่าง ๆ ดีขึ้น เพราะมีเจ้าหน้าที่จากหลายหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ เข้าไปจัดระบบสหกรณ์ ทำบัญชี ทางกรมชลประทานได้เข้ามาช่วยสร้างฝาย สร้างอ่างเก็บน้ำ ทางการไฟฟ้าฯก็เข้ามาช่วย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ “อพช.” ได้เข้ามาดูแลเรื่องบ้านพักอาศัย สรุปแล้วเป็นความโชคดีของคนเหล่านี้ที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต จึงถือว่าไม่มีต้นทุน สิ่งสำคัญคือที่ผ่านมาหลายครอบครัวก็ตกงาน แต่เมื่อมีโครงการนี้จึงเป็นเหมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในชุมชนใหม่ ที่มีระบบสาธารณูปโภคให้ค่อนข้างสมบูรณ์

จริง ๆ แล้วพื้นที่ครอบครัวละ 5 ไร่ ถือว่าไม่ได้มากพอที่จะช่วยพลิกฐานะ ดังนั้นจึงต้องเป็นเกษตรกรรมที่ประณีต และมีคุณภาพในแนวของพืช-ผักอินทรีย์ ซึ่งจะขายได้ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาดที่กว้างกว่า โดยที่ผ่านมาได้มีห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เข้ามาดู ว่าพอมีช่องทางช่วยเหลือเกษตรกรใน คทช.หงษ์เจริญได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งที่กำลังดูกันไว้นอกจากพืช-ผักอายุสั้นแล้ว อาจจะมีในเรื่องการทำไร่กาแฟ การส่งเสริมให้ปลูกกล้วยอินทรีย์เพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น

“โดยส่วนตัวมองว่าเราควรลดพื้นที่สวนปาล์มฯ เนื่องจากราคาปาล์มขึ้น-ลงไม่แน่นอน แต่ปาล์มจะล้นตลาดมากกว่า สุดท้ายแล้วต้องขนไปเททิ้งเพื่อประท้วงรัฐบาล ดังนั้นสวนปาล์มตรงไหนถ้าหมดอายุสัมปทาน รัฐควรนำที่ดินเหล่านั้นมาจัดสรรให้เกษตรกรผู้ยากไร้ คนไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนค้างไว้กับ ส.ป.ก.ทั่วประเทศประมาณ 300,000 ราย ดีกว่าการปล่อยให้ที่ดินแปลงใหญ่ขนาด 100-500 ไร่ขึ้นไป ตกไปอยู่กับนายทุนเพียงรายเดียว เพราะกว่าจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบสิทธิ และการฟ้องร้องเพื่อยึดที่ดินกลับคืนมา ต้องใช้เวลานานมากนับ 10 ปี ยิ่งถ้าแปลงไหนมีการขายสิทธิการครอบครองไปแล้ว ขั้นตอนจะยุ่งยากมาก” เจ้าหน้าที่ใน ส.ป.ก.ชุมพร กล่าว

ใช้หลักตลาดนำการผลิต

ทางด้าน ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่าตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้วางแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรม 5 ยุทธศาสตร์ และ 15 นโยบายหลัก เพื่อเป็นเป้าหมาย การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมผ่านการพัฒนาศักยภาพการผลิต การบริหารจัดการผลผลิต และการบริหารจัดการการตลาดให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดจนส่งเสริมการผลิตตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน การรวมกลุ่มผลิต มีการบริหารจัดการร่วมกันแบบกลุ่มสหกรณ์ส่งเสริมการสร้างหน่วยธุรกิจ เพื่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างครบวงจร

โดยเฉพาะนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ซึ่ง ส.ป.ก. นำมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินภายใต้โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบาย คทช. โดยการประสานผู้ประกอบการให้รับซื้อผลผลิตของเกษตรกร ตลอดจนส่งเสริมให้เพิ่มช่องทางตลาดที่หลากหลายทั้งออฟไลน์และออนไลน์

เช่นยกตัวอย่างการพัฒนาแปลงหมายเลข No 83 คทช.หงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร พื้นที่ 6,415 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล และได้ดำเนินการตามกระบวนการจัดตั้งสหกรณ์จดทะเบียนในชื่อ “สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ จำกัด” เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 62 มีสมาชิกจำนวน 106 ราย และสหกรณ์ฯได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามแบบ ส.ป.ก. 4-139 เมื่อวันที่ 2 พ.ค.62 โดยมี พอช. สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาให้การสนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านมั่นคง รายละ 40,000 บาท จำนวน 105 หลัง ปัจจุบันเกษตรกรได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับจัดสรรครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดแล้ว

ยกคทช.หงษ์เจริญเป็นต้นแบบ!

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวต่อไปว่าหลังจาก ส.ป.ก. ได้ปรับพื้นที่ พัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐานที่จำเป็น และจัดที่ดินให้เกษตรกรได้เข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่โครงการ คทช.หงษ์เจริญ แล้ว ยังได้กำชับให้ ส.ป.ก.ชุมพรส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยเฉพาะนโยบายตลาดนำการผลิต ส.ป.ก.ชุมพรจึงได้ติดต่อประสานงานกับโลตัสภาคใต้ ในการรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ ไปจำหน่าย โดยทางโลตัสได้ตอบตกลงพร้อมทั้งส่งวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้ ในเรื่องการปลูกฟักทองและฟักเขียว ให้มีคุณภาพและได้ปริมาณที่ตรงตามความต้องการของตลาด ตามมาตรฐาน ตลอดจนขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิตสู่โรงแพ็ก และร่วมประชุมวางแผนกำหนดวันปลูกและวันเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งขาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” แนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ ให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน 

โดยเกษตรกร คทช.หงษ์เจริญ ได้สมัครเข้าร่วมโครงการปลูกผักส่งโลตัส จำนวน 40 ราย แบ่งเป็นฟักทอง 20 ราย ฟักเขียว 20 ราย นอกจากนี้ยังมี พริกจินดา พริกหยวก พริกหนุ่ม พริกชี้ฟ้า และผักชี โดยโลตัสมีความต้องการรับซื้อผลผลิต ฟักทอง สัปดาห์ละ 1,000 กก. ฟักเขียว สัปดาห์ละ 500 กก. พริกชนิดต่าง ๆ สัปดาห์ละ 100 กก. และผักชีสัปดาห์ละ 200 กก. มียอดการสั่งซื้อ 2 รอบต่อเดือน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายผักให้โลตัสครัวเรือนละ 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งนอกจากโลตัสแล้ว ยังมีตลาดอื่นที่รองรับผลผลิตของเกษตรกร คทช.หงษ์เจริญ เช่น บริษัทกลุ่มทายาทเกษตรไทย จำกัด และพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดชุมชนด้วย

“เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่พืชผัก คทช.หงษ์เจริญ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มย่อยในสหกรณ์ คทช.หงษ์เจริญ ยังร่วมกันแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น ฟักทองฉาบ กล้วยเล็บมือนางฉาบ และ กล้วยน้ำว้าฉาบ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรโดยจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ตามการแนะนำของ ส.ป.ก.ชุมพร ได้แก่ไลน์และเฟซบุ๊ก ภายใต้แบรนด์สินค้า “พอ กะ เพียง” คทช.หงษ์เจริญ โดยทาง ส.ป.ก.ชุมพร เล็งเห็นว่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา การจำหน่ายสินค้าช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงแนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรทำตลาดออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ซึ่งในหลายพื้นไม่สามารถทำการค้าขายแบบตลาดปกติได้ ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ส.ป.ก.จะเร่งขยายการดำเนินงานหลักการตลาดนำการผลิตให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ คทช.ทั่วประเทศ โดยจะยกให้ คทช.หงษ์เจริญ เป็นต้นแบบในการดำเนินการ ส่งเสริมเรื่องการแปรรูปสินค้า และสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในเขตปฏิรูปที่ดิน” ดร.วิณะโรจน์ กล่าว

ขณะที่ นายเดชา รักเพ็ชร ประธานสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ จำกัด กล่าวว่า พวกตนได้รับการจัดสรรที่ดินและเข้ามาอยู่ในพื้นที่เมื่อปี 62 เริ่มแรกที่เข้ามาอยู่ พื้นที่ยังไม่มีความพร้อมในการทำเกษตรเท่าที่ควร เนื่องจากในพื้นที่มีความรกร้าง ประกอบกับปัญหาน้ำแล้ง แต่หลายหน่วยงานได้เข้ามาช่วยดำเนินการปรับสภาพพื้นที่ให้มีความพร้อม และยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในการมาสนับสนุนและส่งเสริมให้ทำการเกษตรได้จนถึงวันนี้ โดยเฉพาะติดต่อประสานงานกับโลตัสภาคใต้ ให้มารับซื้อผักจากเกษตรกรในพื้นที่ เพราะส่วนใหญ่ในแปลงนอกจากปลูกกาแฟ 2 ไร่ ตามข้อบังคับของสหกรณ์ฯ ยังได้ปลูกพืชผักแบบผสมผสานหมุนเวียน ตามการวางแผนรับซื้อผักของโลตัสและตลาดต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะเกษตรกรจะได้มีรายได้ที่มั่นคงและแน่นอน.