จากคดี “ดิไอคอน” ที่เป็นการดำเนินธุรกิจในลักษณะขายตรง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็กลายเป็นรูปแบบแชร์ลูกโซ่ จากเหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบออกมาร้องเรียนต่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ( สคบ.) อีกทั้งคดีนี้ยังลามไปหลายๆวงการ โดยเฉพาะกลุ่มศิลปิน ดารา ยิ่งทำให้ประชาชนหลงเชื่อและร่วมลงทุน จนทำให้เกิดสูญเสียทรัพย์สินไปไม่น้อย

นอกจากนี้ยังถูกโยงว่ามีเทวดาอยู่ในสคบ.จะคอยเคลียร์เรื่องนี้ทำให้สังคมยิ่งต้องจับตามองการทำหน้าที่ของสคบ.จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่เสือกระดาษ “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงถือโอกาสมาสนทนากับ “รมต.น้ำ” จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล สคบ. โดยตรง ว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรเพื่อให้สังคมได้เกิดความเชื่อมั่น

โดย“รัฐมนตรี จิราพร” เปิดประเด็นว่า ในขณะนี้ทาง สคบ. ได้ประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำข้อมูล เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำผิดหรือไม่ โดยมีการติดตามและประสานงานอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบว่าเกิดการละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็จะต้องดำเนินการลงโทษ

“อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สคบ. มีช่องทางร้องเรียนหลายช่องทางทั้งสายด่วน 1166 ทางระบบออนไลน์ และ แอปพลิเคชั่น รวมถึงศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดเพื่อรับเรื่องร้องเรียนของประชาชน”

@ สถิติคดีการซื้อของออนไลน์ แบบไม่ตรงปก หรือหลอกลวง ตอนนี้มียอดเป็นอย่างไร

จากค่าเฉลี่ยที่มีผู้มาร้องเรียนต่อ สคบ. จะตกปีละ 5,000 – 10,000 เรื่องต่อปี แต่เมื่อดูจากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แล้วจะพบว่ามีจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยออนไลน์ ที่ได้ตรวจสอบตั้งแต่ปี 2564 นั้นพบว่ามีทั้งหมดกว่า 600,000 เรื่อง ซึ่งยอมรับว่ามีจำนวนมาก

แต่โดยปกติการร้องเรียนทางออนไลน์มูลค่าที่ได้รับความเสียหายไม่มาก ดังนั้นประชาชนบางคนก็อาจจะรู้สึกว่าร้องเรียนไปก็ไม่คุ้มค่าต่อการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการติดต่อที่ต้องเสียไป และเชื่อว่ายังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการร้องเรียน

@ ทางสคบ.จะมีการป้องกันปัญหานี้อย่างไร

ขณะนี้ตนได้ให้นโยบายต่อ สคบ. ว่า เราจะทำการแก้ไขปัญหาในเชิงรุก โดยควรออกกฎหมายที่เป็นการป้องการมากกว่าการรับมือ แต่ประเด็นในปัจจุบันที่เกิดขึ้นคือ การรอให้เกิดเรื่องก่อน แล้วจึงค่อยมาร้องเรียน ล่าสุดทางสคบ.ก็เริ่มบังคับใช้มาตรการส่งดี ( Dee-Delivery) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้าผ่านระบบเก็บเงินปลายทาง (COD) โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งต้องออกหลักฐานการรับเงินทันทีที่ชำระ และถือเงินไว้ 5 วัน ก่อนโอนให้ผู้ขาย นี่ถือว่าเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงรุก

อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือกับบริษัทขนส่ง รวมถึงทางกระทรวงดิจิทัล เศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ ตร.. ก็เห็นด้วยกับมาตรการนี้ เพราะเชื่อว่า ปัญหาสินค้าที่ไม่ได้สั่งมา หรือไม่ตรงปก หากดำเนินการเรื่องนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้มากพอสมควร และเชื่อว่าปัญหาจากการซื้อสินค้าออนไลน์และไม่ตรงปกจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งผู้บริโภคเองก็จะป้องปกตัวเองจากมิจฉาชีพได้มากยิ่งขึ้น

@ สคบ.จะวางแผนเชิงรุกเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อ ทางออนไลน์

ปัจจุบันยอมรับว่าการประชาสัมพันธ์ ยังไม่แข็งแรง ส่วนตัวมองว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องนี้โดยจัดทำการประชาสัมพันธ์ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์

นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่าต้นตอ คือ การจดทะเบียนผู้ค้า คิดว่าต้องมีการบูรณาการ ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น จาก ตร.และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ล่าสุดตนได้คุยกับเลขาธิการ ปปง. ว่า ทาง สคบ. และ ปปง. ควรทำบันทักความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ร่วมกัน เพื่อแบ่งปันข้อมูล และตรวจสอบว่าหากผู้ที่เข้ามาจดทะเบียนเคยต้องคดีมาก่อนหรือไม่ ซึ่งก็จะสามารถป้องกันได้แต่เริ่มต้นในการจดทะเบียนและที่สำคัญคือต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ในมือให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด

อีกทั้งทาง สคบ.เองก็ควรจะมีระบบในการมอนิเตอร์ในการทำงานของกลุ่มบริษัทที่มาขึ้นทะเบียนผู้ค้าได้ตลอด เพราะเห็นได้ชัดคือจากกรณีของ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด หากไม่มีประเด็นและเป็นข่าวขึ้นมา ก็จะทำให้ไม่ทราบเลยว่าไม่ได้มีการเข้าไปตรวจสอบว่าทาง “บริษัท ดิไอคอน” ไม่ได้ส่งรายงานการดำเนินการธุรกิจของปี 2566 ให้กับทาง สคบ. ซึ่งมองว่าระบบควรมีการรายงานความคืบหน้าอยู่ตลอดว่าบริษัทใดส่งหรือไม่ส่งรายงานประจำปี ไม่ใช่รอให้เกิดเรื่องแล้วจึงจะมาตรวจสอบย้อนหลัง

@ ใครๆ ก็มองว่าสคบ.เป็นเหมืองเสือกระดาษ เราจะเสริมเขี้ยวเล็บอย่างไร

หลายคนที่มองว่า สคบ. เป็นเหมือนเสือกระดาษนั้น เพราะหลายกรณี บางครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายโดยตรงของ สคบ. ซึ่ง สคบ. มีหน้าที่ในการรับเรื่องและหากจะส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีก็ต้องมีการสอบสวนข้อมูลก่อน โดยบางครั้งก็จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรูปคดีเพื่อทำการพูดคุยให้ตกผลึกว่าจะดำเนินคดีอย่างไร ดังนั้นจึงมีหลายคนคิดว่า สคบ. ไม่ได้มีอำนาจเต็มและจัดการได้ทันที.

“มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้สะสมมานานหลายปีจนเกิดการปะทุ ขณะนี้เรามีรัฐบาลใหม่ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รื้อสังคายนาระบบการทำงาน ทุกคนต่างถือกฎหมายของตัวเอง แต่ขาดการทำงานร่วมกัน ตรงนี้ต้องสร้างระบบให้สอดคล้องกันเพื่อให้เกิดการทำงานที่ง่ายขึ้น

ดังนั้นควรจะร่วมกันแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้มากที่สุด เบื้องต้น ตนได้สั่งการให้ สคบ. ทำการศึกษาเพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบันโดยวางกรอบระยะเวลาไว้ 3 เดือน ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ก็จะได้ข้อสรุป”

@ ฝากเตือนประชาชนอย่างไร ในการเลือกซื้อของทางออนไลน์

อยากให้ประชาชนที่ซื้อสินค้าออนไลน์ ให้ซื้อสินค้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีการตรวจสอบและเปรียบเทียบราคา โดยเฉพาะการตรวจสอบและสอบถามรายละเอียดของสินค้าให้ชัดเจน และหากสินค้าที่มีราคาถูกมาก็ต้องมีสติและตั้งข้อสังเกต แต่ทั้งนี้หากเกิดการผิดพลาดไปแล้ว สคบ.ก็ยังเป็นที่พึ่งให้กับพีน้องประชาชนได้อยู่ โดยสามารถร้องเรียนได้

@ มีการกล่าวอ้างว่าในสคบ.มีเทวดาคอยเคลียร์เรื่องตรงนี้มีจริงหรือไม่ ได้มีการตรวจสอบเพื่อจัดการเรื่องนี้อย่างไร

ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต้องการให้เกิดการโปร่งใสและเป็นธรรมที่สุด โดยไม่ใช้บุคลากรภายใน สคบ. ในการตรวจสอบ แต่จะเป็นคนนอกที่เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการสืบสวนสอบสวนถึงประเด็นนี้อยู่แล้ว ซึ่งมั่นใจว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการนั้นสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงออกมาทำให้เกิดความน่าเชื่อถือได้ ขอให้สบายใจว่าเราดำเนินการอย่างเต็มที่ และทำอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เพื่อทำการตรวจสอบในทุกมิติ

“และหากมี เทวดาสคบ. จริง ก็ต้องจัดตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อเอาผิดทางวินัย หรือ ดำเนินคดีต่อ ซึ่งยืนยันว่า ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด ให้หลักฐานและพยานเป็นคนให้คำตอบในเรื่องนี้ โดยยังไม่ได้ด่วนตัดสินใคร และไม่ได้ตั้งธงว่าใครทำผิด แต่ธงเดียวที่จะทำคือทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในตัว สคบ.”