ย้อนไป 40 ปี ในปี 2527 คนไทยเริ่มรู้จักแชร์ลูกโซ่ครั้งแรก จากกรณี“แชร์แม่ชม้อย” การลงทุนในธุรกิจขนส่งน้ำมัน เป็นเหตุการณ์ระดมทุนใหญ่ จ่ายผลตอบแทนสูงร้อยละ 6.5 ต่อเดือน ผู้เสียหายกว่า 80,000 คน ความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท

เป็นที่มาให้ต้องตรากฎหมายเฉพาะคือ ...การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ..2527 หรือ กฏหมายแชร์ลูกโซ่ ที่มีสาระสำคัญในการเอาผิดกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้ดำเนินการจริง ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนได้ตามโฆษณาเชิญชวน โดยเฉพาะแผนธุรกิจเหล่านี้ ที่เน้นนำเงินจากสมาชิก“หน้าใหม่”ไปจ่าย“หน้าเก่า” ลักษณะเวียนจ่าย ทำให้ผู้ที่เข้ามาลงทุนในระบบเชื่อสนิทใจว่าแผนธุรกิจนั้นๆจ่ายปันผลได้จริง ก่อนถึงทางตันเมื่อไร้สมาชิกหน้าใหม่เข้าระบบ โซ่ก็ขาด “แชร์ล้ม” กลายเป็นคดีความ ถูกเอาผิดจากหางถึงหัว

เป็น“สัจธรรม”เมื่อการกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนา ใครเป็นใครในห่วงโซ่นี้ หลังบทบาท“หน้าฉาก”มักสวนทางคำพูด “ทีมข่าวอาชญากรรม” เปิดตำราสอบคดีแชร์ลูกโซ่ พบโครงสร้าง 4 กลุ่มหลัก บอสแม่ทีมพรีเซ็นเตอร์ผู้เสียหาย แต่ละบทบาท ตามกฎหมายมองพฤติกรรมไว้อย่างไร ลองพิจารณาดู

ใครคือบอส ซีอีโอ หรือ กรรมการบริหาร?

พิสูจน์ที่บทบาทจัดแจงแบ่งหน้าที่กันทำ กำหนดแผนกิจกรรมในธุรกิจ โดยเป็นการตกลงร่วมกันและมีมติในที่ประชุม ไม่ว่าบอสคนนั้นจะนั่งตำแหน่งเหรัญญิก , ฝ่ายสื่อสารองค์กร , ฝ่ายการตลาด หรือฝ่ายพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์

ส่วนใหญ่ล้วนมีรายได้จากแม่ทีมในองค์กร สามารถจัดหาระดมคนเข้าระบบธุรกิจ หรือได้รับเปอร์เซ็นจากยอดขาย หรือยิ่งจำนวนสมัครสมาชิกมากเท่าไหร่ ส่วนแบ่งก็มากตามไปด้วย

ซ้ำมีบางรายพ่วงพฤติการณ์ชักชวนคนให้ลงทุน โฆษณาโอ้อวดผลตอบแทน พฤติกรรมนี้เข้าข่ายเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด

เปิดบทนี่แหละ“แม่ทีม”

ส่วนใครลงทุนแล้วยังไปหาสมาชิกมาลงทุนต่อจากตนเอง แถมกินเงินค่าหัวสมาชิกเพิ่ม กฎหมายชี้เข้าข่ายเป็น“แม่ทีม-แม่ข่าย” ไม่ใช่ผู้เสียหายตัวจริง

ยิ่งหาคนเข้าระบบได้มาก เงินตอบแทนยิ่งสูง ส่วนใหญ่มักรู้อยู่เต็มอกว่ามีส่วนแบ่ง เป็นต้นเหตุให้แข่งกันขยันทำยอด เพื่อก้าวขึ้นอันดับหนึ่ง

รับจบบทพรีเซนเตอร์ ขีดเส้นตรงไหน

พรีเซนเตอร์ คือ ผู้ที่รับจ้างโฆษณาสรรพคุณ และคุณภาพสินค้าเท่านั้น เป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญารับจ้าง แต่ถ้ามีการชักชวน พูดเกินสคริปต์ เอ่ยถึงผลตอบแทนจากการซื้อขาย หรือได้เปอร์เซ็นจากยอดขาย อันนี้ไม่รอด เพราะเข้าข่ายผู้สนับสนุน

กฏหมายแยกผู้เสียหายแท้จริงคือใคร

ผู้เสียหายแท้จริงในวงจรแชร์ลูกโซ่ หมายถึง ผู้ที่ลงทุนไปแล้ว ไม่มีการชักชวนผู้อื่นมาต่อ หรือแม้ไปหาสมาชิก แต่ต้องยังไม่เกิดรายได้จากการหาสมาชิก

จุดสังเกตสำคัญของการยื่นจดทะเบียนตลาดแบบตรงของธุรกิจเคลือบแฝงเป็นแชร์ลูกโซ่ แรกเริ่มมักปฏิบัติตามข้อกำหนดเคร่งครัด แต่ล่วงเลยไปก็มัก“บิดเบือน” แสวงหาผลประโยชน์แบบผิดแผน

หากสินค้าดีจริงต้องเกิดการซื้อซ้ำ ที่สำคัญต้องเน้นที่ตัวสินค้า ไม่ใช่การหาสมาชิกใหม่ เพราะนั่นหมายถึงความเสี่ยงเป็นแชร์ลูกโซ่ ที่จะรอดจากกฎหมายได้ ก็มีแต่เหยื่อแท้จริงเท่านั้น.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]