ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถือกำเนิดขึ้นจากการประชุมสันนิบาตกาชาด ครั้งที่ 17 ณ กรุงสต็อกโฮม ที่มีมติให้สภากาชาดแต่ละประเทศจัดตั้งงานบริการโลหิตขึ้น โดยยึดถือคติว่า ผู้บริจาคโลหิตต้องมาด้วย จิตศรัทธา ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนหรือหวังผลตอบแทนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มี นพ.เฉลิม บูรณะนนท์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก โดยหน่วยงานทำหน้าที่ในการจัดหาโลหิตจากผู้บริจาคโลหิตโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพ ความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางห้องปฏิบัติการและข้อมูลด้านบริการโลหิตของประเทศ จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก แต่งตั้งให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์บริการโลหิตประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน

วันนี้ 13 ต.ค. 2567 ครบรอบวันสถาปนาครบรอบ 55 ปี ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มี รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ เป็นผู้อำนวยการฯ ซึ่งระบุว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้พัฒนางานบริการโลหิตในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องสู่ความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ

ความก้าวหน้าด้านการรณรงค์จัดหาโลหิต มีการบรรจุความรู้เรื่องโลหิตและการบริจาคโลหิต เป็นหนึ่งในกิจกรรมพิเศษของลูกเสือ ยุวกาชาด ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปลูกฝังค่านิยมการให้ ตลอดจนการจัดกิจกรรมเชิญชวนบริจาคโลหิตให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ตามวาระโอกาส และเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ตลอดทั้งปี

ความก้าวหน้าด้านความปลอดภัยของผู้บริจาคโลหิต มีโครงการ Harm Free Care เพิ่มคุณภาพความปลอดภัยหลังการบริจาคโลหิต

ความก้าวหน้า ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ เช่น ผลิตน้ำยาตรวจหมู่โลหิตสำหรับตรวจหาแอนติเจน Dia บนผิวเม็ดเลือดแดง การผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากพลาสมาเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เช่น โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น และยังผลิตส่วนประกอบโลหิต LDPPC เป็นเกล็ดเลือดเข้มข้นชนิดที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำมากลดการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ จากการรับโลหิต ฯลฯ

ความก้าวหน้าด้านการบริหารระบบคุณภาพ โดยได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001:2015, ISO 15189:2012, ISO 15190:2020, GMP, มาตรฐานทางวิชาการของห้องปฏิบัติการราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย และล่าสุดได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพงานเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตระดับสากล WMDA Full Standards Certification จากองค์กรระดับโลก WMDA เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567

ดังนั้นในโอกาสครบรอบ 55 ปี ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติซึ่งตรงกับวันที่ 13 ต.ค. 2567 จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคโลหิตได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ หน่วยรับบริจาคประจำที่ 7 แห่งและภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ

โลหิตที่ได้รับบริจาคมา 77% นำไปให้ผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดเฉียบพลัน เช่น ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดและผู้ที่คลอดบุตร ขณะที่ 23% นำไปรักษาผู้ป่วยโรคเลือดชนิดต่างๆ โดยการบริจาคโลหิต 1 ครั้ง สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต”รศ.พญ.ดุจใจ กล่าว.