นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ วัย 67 ปี ผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่ ซึ่งเป็นคนที่ 102 ในประวัติศาสตร์ของประเทศ เป็นหนึ่งในนักการเมืองมากประสบการณ์ของญี่ปุ่น โดยมีความรู้และความเชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษในด้านนโยบายความมั่นคง ก่อนดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง อิชิบะเคยดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันแนวคิด “นาโตแห่งเอเชีย” ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรทางทหาร ระหว่างนานาประเทศในทวีปเอเชีย แบบเดียวกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ที่มีสหรัฐเป็นหัวเรือใหญ่

ขณะเดียวกัน อิชิบะเคยกล่าวว่า กองกำลังป้องกันตนเอง ( เอสดีเอฟ ) ของญี่ปุ่น “สมควรมีบทบาทมากกว่านี้” กับกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตทั้งทางอากาศและทางทะเล แน่นอนว่า สื่ออย่างมีนัยถึงจีน อย่างไรก็ดี อิชิบะมีวาทศิลป์มากพอ ในการสื่อสารที่จะไม่สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับรัฐบาลปักกิ่ง

เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นฝึกซ้อมใช้ปืนใกญ่อัตตาจรฮาวอิตเซอร์ ที่ฐานทัพในเมืองโกเทมบะ จังหวัดชิซุโอกะ

อนึ่ง อิชิบะกล่าวว่า สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงซึ่งกำลังเกิดขึ้นล้อมรอบญี่ปุ่นนั้น “ตึงเครียดและรุนแรงที่สุด” นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองยุติ และ “ด้วยรากฐานของความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคง” ระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น ทั้งสองประเทศจะร่วมกันขยายขอบเขตของความร่วมมือดังกล่าวต่อไป ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายการทูต และความมั่นคงเพื่อสันติภาพ

อิชิบะเป็นหนึ่งในนักการเมืองซึ่งเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมเป็นลำดับต้นของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวประสบกับความผิดหวัง ในการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย ( แอลดีพี ) ตลอด 4 ครั้งที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือการแข่งขัน เมื่อปี 2555 ซึ่งอิชิบะพ่ายแพ้ให้กับนายชินโซ อาเบะ ไปอย่างฉิวเฉียด และหลังจากนั้น อิชิบะเป็นแกนนำกลุ่มการเมืองภายในพรรคแอลดีพี ที่วิจารณ์การดำเนินนโยบายของรัฐบาลอาเบะมาตลอด แม้อยู่ในพรรคเดียวกันก็ตาม

อย่างไรก็ดี ตอนนี้อิชิบะกล่าวว่า พรรคแอลดีพี “ต้องปฏิรูปอย่างจริงจัง” จากกรณีอื้อฉาวหลายเรื่อง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการระดมทุนภายในพรรค ที่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของพรรคแอลดีพี จนทำให้มีการตรวจสอบทั้งจากภายนอกและภายใจ ตลอดจนรัฐมนตรีหลายคนในเวลานั้นต้องลาออกจากตำแหน่ง

นอกจากนี้ อิชิบะนำเสนอและผลักดันมาตลอด เกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานกลาง เพื่อรับผิดชอบดูแล และการประสานงานด้านภัยพิบัติ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งเผชิญกับภัยพิบัติรุนแรงมากที่สุดในโลก

อิชิบะให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อาซาฮี เมื่อไม่นานมานี้ ว่าภารกิจสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่น คือความมั่นคง การป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ และการฟื้นฟูควบคู่ไปกับการพัฒนาภูมิภาคชนบทของประเทศ

อนึ่ง อิชิบะเกิดในครอบครัวนักการเมือง บิดาเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดทตโตริ หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคโอ อิชิบะเข้าทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง แล้วตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมือง หลังการถึงแก่กรรมของบิดา และได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 จังหวัดทตโตริ สังกัดพรรคแอลดีพี เป็นสมัยแรกเมื่อปี 2529 ซึ่งตอนนั้นอิชิบะมีอายุเพียง 29 ปี

อิชิบะรับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก คือการดำรงตำแหน่งรมช.เกษตร ในยุครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคิอิจิ มิยาซาวา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สอดคล้องกับความสนใจส่วนตัวของอิชิบะด้วย ที่กล่าวมาตลอด ว่าชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกษตรและความมั่นคง แม้สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ และทำงานธนาคารมาก่อนก็ตาม

รถไฟสายยามาโนเตะ ที่สถานีนิปโปริ ในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ทั้งนั้น อิชิบะเน้นย้ำว่า เศรษฐกิจเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลญี่ปุ่นทุกยุคทุกสมัยต้องให้ความสำคัญอยู่แล้ว โดยในส่วนของตัวเขาจะเน้นไปที่ การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ และเพิ่มการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาในญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ( เอไอ ) และการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

นอกจากนี้ ผู้นำญี่ปุ่นยังกล่าวถึง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การแบ่งปันและการถ่ายทอดเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานสะอาดของญี่ปุ่น ให้แก่ประเทศยากจนและต้องการความช่วยเหลือ

ในด้านนโยบายการเงินและการธนาคาร อิชิบะกล่าวว่า สนับสนุนการให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น ( บีโอเจ ) ดำเนินนโยบายการเงิน “แบบผ่อนคลาย” ต่อไป และการต้องรักษาต้นทุนการกู้ยืมให้อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงเปราะบาง อีกทั้งยังไม่พ้นจาก “ปากเหว” ของภาวะเงินฝืดที่คงอยู่มานาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในวาระทางเศรษฐกิตที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไจ เพื่อกระตุ้นภารลงทุน ทั้งจากภายในและภายนอก

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ผู้นำญี่ปุ่น ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับคณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม การที่ก่อนหน้านั้นอิชิบะวิจารณ์อย่างหนัก ต่อการที่บีโอเจใช้นโยบายแบบนี้ จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต ว่าการแสดงความเห็นดังกล่าว เป็นความพยายามส่งสัญญาณประนีประนอมกับบีโอเจหรือไม่ ขณะเดียวกัน อิชิบะกล่าวด้วยว่า การทำงานและการตัดสินใจของบีโอเจเป็นอิสระ และเขาจะเคารพเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ส่วนเรื่องอื่นที่ผู้นำญี่ปุ่นให้คำมั่นเดินหน้าจัดการ รวมถึงวิกฤติประชากรของประเทศ ที่มีความพยายามแก้ไขตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ กระนั้นอัตราการเกิดของประชากรแทบไม่กระเตื้อง สวนทางกับประชากรสูงวัยซึ่งมีอายุยืนและเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประชากรในพื้นที่ชนบทซึ่งมีแนวโน้มลดลง และเรื่องนี้ยังสัมพันธ์กับความพยายามของภาครัฐ ที่กำลังหาทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ภายในกองกำลังป้องกันตนเอง ( เอสดีเอฟ )

เจ้าหน้าที่กู้ภัยญี่ปุ่นค้นหาผู้สูญหาย ท่ามกลางซากปรักหักพัง ซึ่งเป็นผลจากน้ำท่วมและดินถล่ม ที่เมืองวาจิมะ ในจังหวัดอิชิกาวะ

อนึ่ง อิชิบะกล่าวว่า การที่ตัวเอง “อกหัก” จากการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแอลดีพี 4 ครั้งที่ผ่านมา เป็นโอกาสให้ได้ศึกษาแนวทางการทำงานของรัฐบาลพรคแอลดีพีทุกสมัยที่ผ่านมา และนำมาเป็นแรงผลักดัน เพิ่มความมุ่งมั่นให้กับตัวเองว่า จะทำอย่างไรเมื่อได้มีโอกาสมายืนอยู่ ณ จุดนี้ ซึ่งตอนนี้แม้ “สมหวังแล้ว” แต่ไม่ใช่เวลาที่จะมาเฉลิมฉลอง

การที่ผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่ให้คำมั่นว่า ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลชุดก่อน จะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกในยุสมัยของตัวเอง เป็นการสัญญาซึ่งอาจเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับตัวเอง แต่ในอีกมุมหนึ่ง น่าจับตาว่า จะเป็นแรงผลักดันให้อิชิบะสามารถ “พลิกโฉม” ญี่ปุ่นให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ตามที่เจ้าตัวให้คำมั่นไว้ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะเป็นผู้ให้ฉันทามติ ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด ในวันที่ 27 ต.ค. นี้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP