ปรับไทม์ไลน์ก่อสร้างมาแล้วหลายครั้ง สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแครายลำสาลี(บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.10 กิโลเมตร(กม.) ที่ขีดเส้นสีน้ำตาลไว้ในแผนแม่บทระบบรางM-Map(ปี 53-72) สถานะโครงการล่าสุดอยู่ไหนแล้ว…. มาติดตามกันเล้ยย!!

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กำลังเร่งปรับปรุงผลการศึกษาออกแบบ เอกสารประกวดราคา และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลีเพื่อให้สอดรับกับนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล

พร้อมเสนอผลการศึกษาฯ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. ได้ทันที เมื่อมีการสรรหาประธานบอร์ด รฟม. คนใหม่แล้วเสร็จ ตามขั้นตอนหากที่ประชุมบอร์ด รฟม. เห็นชอบ จะเสนอกระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการฯ ต่อไป หลังจากได้เสนอไปแล้วแต่กระทรวงคมนาคมตีกลับโครงการให้มาทบทวนเพื่อปรับอัตราค่าโดยสารใหม่ตามนโยบายรถไฟฟ้า20บาท

การปรับปรุงผลศึกษาดำเนินการควบคู่กับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA (คชก.) แล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา

สำหรับระบบรถไฟฟ้าที่จะนำมาใช้กับโครงการนี้ แต่เดิมกำหนดเป็นรูปแบบรถไฟรางเดี่ยว (Monorail) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าประเภทรางเบา(Light Rail) โดยรถไฟฟ้ารางเบามีหลากหลายระบบ อาทิ โมโนเรล และระบบขนส่งมวลชนนำทางอัตโนมัติ (Automated Guideway Transit; AGT) เป็นต้น

แต่เหตุการณ์รถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทยสายสีเหลืองและสีชมพูเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ทำให้สังคมตั้งคำถามและไม่มั่นใจในระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล รฟม. จึงกำหนดเป็นรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา โดยยังไม่สรุปชัดเจนว่าจะเป็นโมโนเรลหรือไม่ …. หากมีระบบรถไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนได้ โดยต้องพิจารณาควบคู่กับการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการด้วย ซึ่งตามผลการศึกษาเบื้องต้นคาดการณ์ว่าในปีแรกที่เปิดบริการจะมีผู้โดยสาร 2.18 แสนคนต่อวัน และสามารถเปลี่ยนแปลงEIAได้หากไม่ใช่สาระสำคัญ

ไทม์ไลน์ใหม่ของรถไฟฟ้าสีน้ำตาล จะคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ในปี 2568 เริ่มก่อสร้างปี 2569 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และเปิดบริการเดินรถได้ประมาณปี 2572

โครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเป็นทางยกระดับตลอดทั้งเส้นทาง มี 20 สถานี วงเงินลงทุน 49,865 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,254 ล้านบาท, งานก่อสร้าง 18,544 ล้านบาท, งานระบบ 16,351 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาโครงการ 1,396 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด(Provisional Sum) 6,320 ล้านบาท

มีที่ดินที่ต้องเวนคืนตามแนวเส้นทาง สถานี และศูนย์ซ่อมบำรุงรวม 436 แปลง พื้นที่ประมาณ 67 ไร่ 1 งาน 52.3 ตารางวา และต้องรื้อถอนอาคาร รวมถึงสิ่งปลูกสร้างประมาณ 232 หลัง รฟม. จะดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืน และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ.2540

รถไฟฟ้าสีน้ำตาลเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้อีก 7 สาย ได้แก่ สายสีม่วง, ชมพู, แดง, เขียว, เทา, ส้ม และเหลือง มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีชมพู บริเวณแยกแคราย วิ่งไปตามแนวถนนงามวงศ์วานจนถึงแยกบางเขนเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง แล้วข้ามถนนวิภาวดีรังสิต โดยลอดใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อวิ่งต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูญกิจ ผ่านแยกฉลองรัชเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ยาวไปจนถึงแยกนวมินทร์ ก่อนเลี้ยวลงทางทิศใต้ไปตามแนวถนนนวมินทร์ จนถึงแยกสวนสน ซึ่งเป็นสถานีปลายทางที่เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสีเหลืองได้

ช่วงถนนประเสริฐมนูญกิจรถไฟฟ้าสีน้ำตาลมีส่วนซ้อนทับกับโครงสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 (เกษตรฯ-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ในระยะทางปะมาณ 7.2 กม. (6 สถานี) ฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะสร้างโครงสร้างทางวิ่งเป็นคานคอนกรีตที่วางบนคานขวางออกแบบให้มีเสาตอม่อสายสีน้ำตาลแทรกระหว่างเสาทางด่วนที่ก่อสร้างไว้แล้ว มีระยะห่างช่วงตอม่อ 25-30 เมตร รถไฟฟ้าสีน้ำตาลอยู่ใต้ทางด่วน รฟม.และกทพ. จะวางแผนงานก่อสร้างร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบระหว่างก่อสร้างต่อประชาชนน้อยที่สุด

เมื่อรถไฟฟ้าสีน้ำตาลพัฒนาร่วมกับระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกัน รถไฟฟ้าจะให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ 22.3% ขณะที่ทางด่วนให้ผลตอบแทน 38.9% ถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน

นอกจากรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ประกาศเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลให้รถไฟฟ้าทุกสีทุกสายเก็บ 20 บาทภายในเดือนก.. ปี 2568 แล้ว….ภายใต้ครม.ชุดใหม่ที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่”แพทองธาร ชินวัตร” เป็นผู้นำรัฐบาลใหม่ จะผลักดันรถไฟฟ้าสายใหม่ล่าสุด “สีน้ำตาล” ให้แจ้งเกิดได้หรือไม่??….ต้องติดตาม

……………………………………..
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…